ตอบปัญหาชีวิตด้วยหนังสือ “ชีวิตนี้คู่ควรที่จะงดงาม”

Published : พฤศจิกายน 13, 2023 | Blog | Editor :

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ครุ่นคิดถึงความหมายในแทบทุกขณะของการมีชีวิต…ในแต่ละบทตอนของหนังสือ ‘ชีวิตนี้คู่ควรที่จะงดงาม’ จะพาคุณเดินทางลัดเลาะไปกับความคิดในหัว ผสมผสานระหว่างทั้งแนวคิดปรัชญาและแนวทางปฏิบัติที่ทุกคนทำได้ง่าย

แฟรงก์ มาร์เทลา ผู้เขียน เรียบเรียงเรื่องราวการเดินทางทางความคิดของมนุษย์ เพื่อแสวงหาคำตอบเรื่องความหมายของชีวิต ตั้งแต่จุดเริ่มต้นอันว่างเปล่าไปจนถึงวิถีสู่ชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหมายซึ่งอยู่ใกล้จนบางครั้งคุณอาจมองไม่เห็น

Q : “ความสุข” คือ ความหมายของชีวิต ?

A : ในปี 2000 มีหนังสือเรื่องความสุขตีพิมพ์เพียง 50 ปก แต่ในอีก 8 ปีต่อมา จำนวนหนังสือเรื่องความสุขก็เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 4,000 ปก

ในปี 2012 เริ่มมีการจัดทำรายงาน World Happiness Report สำรวจความสุขของคนกว่า 156 ประเทศ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าหลายสังคมทั่วโลกสนใจเรื่องความสุขกันมากขนาดไหน

แต่การมีความสุขคือความหมายชีวิตจริง ๆ หรอ ? ในเมื่อความสุขก็เป็นเพียงแค่ความรู้สึกหนึ่ง และเอาเข้าจริง อีกหลายส่วนของโลกก็ไม่ได้เน้นย้ำว่าความสุขสำคัญ

ในโลกนี้มีบางสังคมมองว่า ความเสียสละมีค่าที่สุด มีบางสังคมมองว่า การทำเพื่อคนอื่นมีความหมายที่สุด ความหมายหรือเป้าหมายของชีวิตจึงแปรผันไปในแต่ละวัฒนธรรม ซึ่งมันอาจจะเป็น ‘อะไร’ ก็ได้

ในทางตรงข้าม ความสุขก็ใช่ว่าจะมอบแต่ประโยชน์ให้มนุษย์ การยึดติดความสุขในทุก ๆ สภาวการณ์สร้างโทษได้เช่นกัน เช่น การไขว่คว้าแสวงหาไม่จบไม่สิ้น แถมยังมีหลายงานวิจัยพิสูจน์ว่า สังคมที่โฟกัสความสุขส่วนตัวอย่างเดียว อาจทำลายความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งที่ความสัมพันธ์ทางสังคมนี่เองที่เป็นแหล่งที่มาของความสุข

เมื่อการสู้รบกับอุดมคติที่กำหนดชีวิตมักทำให้ผู้คนเหน็ดเหนื่อย แถมมันยังไม่มีคำตอบตายตัว เปลี่ยนแปลงได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ว่าสังคมและยุคสมัยนั้นจะฮิตเรื่องอะไร…เราจึงสามารถลองเลือกความหมายชีวิตในแบบตัวเองได้ และจำเป็นที่จะต้องรักษาตัวตนนั้น ๆ เอาไว้ ในสังคมที่ท่วมท้นไปด้วยโฆษณาเรื่องชีวิต

Q : ช่วยเหลือคนอื่น คือ การช่วยเหลือตัวเอง ?

A : ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งบริติชโคลัมเบียได้ให้เงินใช้จ่ายผู้เข้าร่วมการทดลอง คือ ผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง ครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมการทดลองได้รับคำสั่งให้ใช้จ่ายเพื่อตัวเอง และอีกครึ่งหนึ่งใช้จ่ายเพื่อคนอื่น เช่น ซื้อของขวัญให้เพื่อน

ผลปรากฎว่า ความดันโลหิตของเหล่าผู้ที่ใช้จ่ายเงินเพื่อคนนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้จ่ายเงินเพื่อตัวเอง และมันส่งผลต่อสุขภาพที่ดีด้วย

…นี่เป็นเพียงหนึ่งจากหลายงานวิจัยที่ให้ผลลัพธ์คล้ายคลึงกัน การทำดีกับผู้อื่นไม่เพียงเป็นสิ่งที่มีความหมาย แต่ยังเป็นยาบำรุงสุขภาพทางกาย จิตใจ และความอยู่ดีมีสุขของเรา

ว่าแต่เราจะช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไร ?

ศาสตราจารย์เอมี วเรซนิวสกี แห่งมหาวิทยาลัยเยล ขอให้ภารโรงประจำโรงพยาบาลบรรยายว่าพวกเขามองเห็นงานของตัวเองว่าอย่างไร ?​ บางคนบอกว่าเป็นเพียงการทำความสะอาด ขณะที่คนอื่น ๆ เห็นว่างานของเขามีส่วนสำคัญในการช่วยเยียวยารักษาคนไข้ด้วย

เคสนี้จึงเป็นตัวอย่างว่า การช่วยเหลือไม่มีขนาดกำหนด เราอาจช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย ทุ่มเทสุดตัว หรืออาจไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าการเพิ่มความตระหนักที่จะมองเห็นสิ่งดี ๆ ในเรื่องที่เราทำอยู่แล้ว

Q : “เป็นอย่างที่ตัวเราเป็น” ดีแล้วจริงไหม ?

A : เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดคือ เข้าใจว่า ‘ความเป็นอิสระแห่งตน’ เป็นเรื่องเดียวกับ ‘ปัจเจกชนนิยม’ แท้จริงแล้วมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ขณะที่ปัจเจกชนนิยมมุ่งเน้นแยกห่างจากผู้คน ไม่พึ่งพาคนอื่น และความสำคัญกับความชอบของปัจเจกเหนือกว่าหมู่ชน

ความเป็นอิสระแห่งตนถูกเอ่ยถึงในแง่ความสำคัญต่อความอยู่ดีมีสุข ความรู้สึกว่าการกระทำและทางเลือกของคนคนหนึ่งเป็นสิ่งที่เลือกด้วยตัวเอง ไม่ได้ถูกควบคุม มีอิสระแห่งตนที่จะสนับสนุนคุณค่าของหมู่ชนก็ได้ หรือก็คือ ‘เป็นอย่างที่ตัวเราเป็น’

ท่ามกลางชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อกำจัด หากเรายังมีเสรีภาพที่จะเลือกวิธีโต้ตอบ ควบคุมปฏิริยาของเราเองต่อโลกภายนอก นั่นก็คือทางเลือกที่จะช่วยปูไปสู่อิสรภาพส่วนตัวของเรา

และในวินาทีที่คุณเป็นอิสระ ได้กระทำสิ่งใด ๆ ที่หัวใจของคุณเห็นชอบ คุณจึงจะได้มีชีวิตอย่างแท้จริง และรู้สึกได้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เลือกนั้นต่อเติมคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้กับชีวิตนั่นเอง

แท็ก


Related Content