La Strada และ ‘การชงชา’ บางสิ่งอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะเข้าใจ

Published : มกราคม 2, 2024 | Blog | Editor :

“ทุก ๆ ครั้งที่ได้ดู เรื่อง ‘ถนน’ ของเฟลลีนีจะกลายเป็นอีกเรื่องและลึกซึ้งขึ้นเสมอ”

ในบทนำของหนังสือ ‘ทุกวันเป็นวันที่ดี:ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน’ ผู้เขียนเกริ่นนำด้วยการเล่าถึงหนังเรื่อง La Strada ก่อนจะเข้าสู่เรื่องการเรียนชงชา แต่หนังอิตาลียุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะมีอะไรเชื่อมโยงกับคนญี่ปุ่นยุคเบบี้บูมเมอร์และการชงชาได้อย่างนั้นหรือ

โนริโกะ ดูเรื่อง La Strada ทั้งหมด 3 ครั้ง

ครั้งแรก พ่อแม่พาเธอไปดูตอนป.ห้า
ครั้งที่สอง สิบปีให้หลังสมัยเป็นนักศึกษา
ครั้งที่สาม ตอนกลางอายุสามสิบ

จากครั้งแรกที่ดูแล้วไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับเนื้อเรื่องแม้แต่น้อย ในครั้งที่สองเธอรู้สึกเหมือนจะเข้าใจเนื้อเรื่องขึ้นมาราง ๆ และในการดูครั้งที่สาม เธอร้องไห้ออกมาโดยไม่รู้ตัว เพราะรู้สึกราวกับหนังเรื่องนั้นกำลังเล่าถึงชีวิตของตัวเอง

La Strada (1954) เป็นหนังอิตาลีขาว-ดำ ผลงานมาสเตอร์พีซของกำกับ เฟเดรีโก เฟลลีนี (Federico Fellini) ที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ในปี 1957 และได้รับการยกย่องจากสถาบันภาพยนตร์อเมริกันว่าเป็น ‘หนึ่งในภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา’

เพราะเหตุใดหนังอิตาลีเรื่องนี้ถึงมีอิทธิพลต่อโนริโกะมากถึงขนาดทำให้เธอเข้าใจชีวิตได้

La Strada (แปลว่า ถนน) เล่าเรื่องราวมืดหม่นของนักแสดงเร่ร่อนที่ยากจนสองคน ‘เจลโซมีนา’ หญิงสาวผู้ไร้เดียงสาถูกแม่ขายให้กับ ‘แซมปาโน’ ชายหนุ่มนักแสดงเร่ผู้มีนิสัยหยาบกระด้าง

ทั้งสองเปิดการแสดงไปตามเมืองต่าง ๆ โดยแซมปาโนจะรับบทเป็นมนุษย์จอมพลังที่สามารถกระชากโซ่ให้ขาดด้วยมือเปล่าได้ ส่วนเจลโซมีนาจะแต่งหน้าเป็นตัวตลก คอยรับบทเป็นผู้ช่วยในการแสดง แม้จะมีกันอยู่สองคน แต่แซมปาโนก็คอยแต่จะสร้างเรื่องให้เจลโซมีนาเสียใจอยู่เป็นประจำ รวมถึงใช้ความรุนแรงกับเธอบ่อยครั้ง

แล้ววันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งสองคนต้องแยกจากกัน ซัมปาโนไม่เคยรู้ข่าวคราวจากเจลโซมีนาอีกเลย จนกระทั่งผ่านไปห้าปี เขาถึงรู้ว่าเธอตายจากโลกนี้ไปแล้วอย่างโดดเดี่ยว และเป็นตอนนั้นเองที่ชายผู้โหดร้ายได้สำนึกผิดและเข้าใจความรู้สึกของการสูญเสียคนที่ตนรัก คนที่เขาเป็นผู้ทิ้งให้ต้องเร่ร่อนอย่างไร้จุดหมายตามลำพัง

ชื่อเรื่อง La Strada ที่แปลว่าถนนนั้นสื่อถึงถนนหรือเส้นทางที่ทั้งสองคนเลือกเดินในชีวิต มีหลายครั้งที่เจลโซมีนาพยายามหนีไปจากซัมปาโน แต่เมื่อมีโอกาสหนีเข้าจริง เธอกลับเปลี่ยนใจและยังคงอยู่กับเขาต่อไปเพราะความผูกพันธ์

La Strada จัดเป็นหนังที่ใกล้เคียงกับแนว Italian Neorealism เป็นแนวเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเหล่าผู้กำกับต้องการทำหนังสะท้อนสภาพสังคมอิตาลีในช่วงหลังสงครามที่ประชาชนมีสภาพชีวิตลำบากแร้นแค้น และบ้านเมืองพังราบคาบ

ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ ‘ชีวิต’ และ ‘ตัวตน’ ชวนให้ตั้งคำถามว่า ‘ชีวิตคืออะไร’

แล้วเด็กหญิงโนริโกะในวัยสิบขวบที่ยังไม่เคยผ่านการใช้ชีวิตเลยนั้นจะเข้าใจได้อย่างไร จนกระทั่งได้ผ่านความผิดหวัง ความสุข ความเศร้า นั่นเอง เธอจึงเข้าใจเนื้อเรื่องไปพร้อม ๆ กับประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น

เช่นเดียวกับหนัง เรื่องต่าง ๆ บนโลกนี้ก็แบ่งได้เป็นสองประเภทคือ “เรื่องที่เข้าใจได้ทันที” กับ “เรื่องที่ยังไม่เข้าใจในทันที” เรื่องที่ยังไม่เข้าใจนั้นต่อให้พยายามแค่ไหนก็คงไม่อาจเข้าใจได้จนกว่าเวลาของมันจะมาถึง และเมื่อเข้าใจแล้ว จะทำเป็นไม่เข้าใจอีกก็ไม่ได้เช่นกัน

ตั้งแต่เริ่มเรียนชงชาตอนอายุ 20 ปี เธอมีแต่ความไม่เข้าใจอยู่ในหัว ทำไมต้องมีขั้นตอนและพิธีรีตองมากมาย ทำไมในพิธีชงชาต้องใช้คำพูดที่เข้าใจยาก ทำไมต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ตามฤดูกาล หลายครั้งเธอไม่เข้าใจอะไรเลย แถมยังไม่เข้าใจด้วยว่าที่ไม่เข้าใจนั้น ไม่เข้าใจอะไร

กว่าแซมปาโนจะเข้าใจความรู้สึกสูญเสีย ก็เมื่อรู้ว่าเจลโซมีนาจากไปแล้ว
กว่าโนริโกะจะเข้าใจ La Strada ก็ต้องดูถึง 3 ครั้ง
กว่าโนริโกะจะเข้าใจสิ่งที่แฝงอยู่ในการเรียนชงชา ก็ต้องใช้เวลาถึง 25 ปี

ทั้งสองอย่างนี้ทำให้เธอตระหนักว่า สำหรับเรื่องที่ไม่เข้าใจนั้น สุดท้ายแล้วก็จะค่อย ๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยในระหว่างที่มันผ่านไปผ่านมาในชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า และจะเปลี่ยนไปเป็น “อีกเรื่อง” ไปทันทีที่เข้าใจ

เมื่อเฝ้ารออย่างอดทนจนกระทั่งโลกภายในเติบโตเต็มที่ เธอก็ได้รู้สึกและค้นพบสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง

แท็ก


Related Content