รายละเอียดเพิ่มเติม
รวมข้อคิดชีวิตผ่านพิธีชงชาของญี่ปุ่นอันละเมียดละไม ฤดูกาลเปลี่ยนผัน และธรรมชาติที่งดงาม สะท้อนเป็นบทเรียนชีวิต 15 ประการ จากปลายปากกาของโมริชิตะ โนริโกะ นักเขียน ผู้เรียนชงชามามากกว่า 25 ปี และเป็นหนังสือที่มียอดตีพิมพ์กว่า 600,000 เล่มในญี่ปุ่น
ทุกวันเป็นวันที่ดี เล่าเรื่องผ่านสายตาของโนริโกะ นักศึกษาผู้กำลังค้นหาตัวเองและมองหาเส้นทางชีวิตที่จะมุ่งหน้าเดินต่อไปหลังเรียนจบ ระหว่างนั้นเธอเรียนชงชาตามคำแนะนำของแม่ การชงชานั้นเต็มไปด้วยแบบแผนเคร่งครัด ส่วนอาจารย์ก็บอกให้ทำตามอย่างละเอียด โดยไม่ค่อยบอกเหตุผล การเรียนชงชาทำให้โนริโกะกลับไปเป็นเด็กซึ่งไม่รู้อะไรเลยอีกครั้ง
ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทั้งต้องดิ้นรนหางานตามที่ฝัน เลิกรากับคนรัก สับสนกับเส้นทางอาชีพ บางครั้งก็สงสัยว่าตัวเองยังเหมาะกับการชงชาอยู่หรือเปล่า เรื่องไม่คาดฝันชวนมักแวะเวียนมาหาโดยไม่บอกล่วงหน้า แต่ถึงอย่างนั้นในทุก ๆ วันเสาร์ โนริโกะก็ยังคงไปเรียนชงชาอยู่เสมอ เป็นสิ่งเดียวที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่เริ่มเรียนชงชามาเป็นเวลา 25 ปี อะไรคือสิ่งที่ทำให้โนริโกะเรียนชงชามานานขนาดนั้น
แล้วอย่างนี้ “วันที่ดี” คือวันแบบไหน
ชีวิตคนเราประกอบไปด้วยเรื่องที่เข้าใจได้ทันทีและเรื่องที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ไม่มีคำตอบว่าเราจะเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้เมื่อไร และไม่มีคำตอบเดียวกันสำหรับทุกคน เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องราวบางอย่าง หรือปล่อยวางเรื่องติดค้างสักเรื่อง อาจใช้เวลาเป็นหน่วยชั่วโมงไปจนถึงตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้ และมันคงเป็นหนึ่งในคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมโนริโกะจึงเรียนชงชามาได้นานขนาดนี้
ทุกวันเป็นวันที่ดี: ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน คือหนังสือพูดถึงชีวิตและการเรียนรู้ที่จะเข้าใจชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ลึกซึ้งและจับใจมากที่สุดอีกเล่มหนึ่ง ผ่านพิธีชงชาซึ่งซ่อนปรัชญาชีวิตไว้อย่างแยบยล ชวนให้เราเห็นคุณค่าของการทำทุกอย่างอย่างใส่ใจ การเรียนรู้ที่ไม่มีวันไม่สิ้นสุดเพื่อการเติบโตภายใน และค้นหาว่าอะไรคือชีวิตที่ดีในแบบของเรา
ตัวอย่างจากในเรื่อง:
อารมณ์มนุษย์เราก็ผันแปรตามฤดู เหมือนกันกับประตูห้องชงชาที่บางครั้งเลื่อนเปิดออก และบางคราวเลื่อนปิดลง เปิดออก ปิดลง แล้วเปิดออกอีกครั้ง…เป็นวงจรเวียนซ้ำเหมือน “การหายใจ”
โลกเรานั้นให้ค่าเฉพาะความสว่างซึ่งเป็นด้านบวก แต่หากไร้สิ่งที่อยู่ตรงข้ามเสียแล้ว “ความสว่าง” ย่อมไม่มีอยู่ ต่อเมื่อมีครบทั้งสองด้าน ความลึกซึ้งจึงจะเกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องบอกว่าด้านไหนดีด้านไหนร้าย เพราะทั้งสองด้านต่างมีข้อดีในแบบของตัวเอง และล้วนจำเป็นต่อชีวิตคนเรา
………………………
ถ้าอยากพบใคร ต้องไปพบให้ได้ ถ้ามีคนที่ชอบอยู่ ต้องบอกให้รู้ว่าชอบ เมื่อดอกไม้บาน จงเฉลิมฉลอง เมื่อรู้สึกรัก จงรักให้หมดใจ และเมื่อสุขใจ ให้แบ่งปัน
ในเวลาที่มีความสุข จงโอบกอดความสุขนั้นไว้และดื่มด่ำกับมันให้เต็มร้อย บางทีนี่อาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่คนเราจะทำได้
เพราะฉะนั้นหากคุณพบคนสำคัญแล้วจงใช้เวลาอย่างมีความสุขให้เต็มที่ ดื่มกินด้วยกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน
นี่เองคือ อิจิโกะ อิจิเอะ…
………………………
ในความไม่แน่นอน
ผ่านไปสามปีหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย เป็นยุคสมัยที่เรียกว่า “ยุคน้ำแข็งของการจ้างงานสำหรับนักศึกษาหญิงจบใหม่” ฉันโดนภาวะหางานยากถาโถมเข้าอย่างจัง แต่ได้คนรู้จักช่วยแนะนำจึงได้งานพาร์ตไทม์ในกองบรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ เป็นงานรวบรวมข้อมูลมาเขียนเป็นบทความสั้น ๆ และระหว่างนั้นก็เฝ้ารอโอกาสจะได้งานในสำนักพิมพ์สักแห่ง
ฉันไม่มีโต๊ะของตัวเองในกองบรรณาธิการแห่งนั้น ไม่ได้เป็นทั้ง “พนักงาน” และไม่ได้เป็น “แขก” เช่นกัน ระหว่างที่ตกอยู่ในสภาวะเอาแน่เอานอนไม่ได้แบบนั้นต่อเนื่องหลายปี มีบางคนบอกฉันซึ่งหน้าว่า
“ทำงานพาร์ตไทม์หลายปีแบบนี้ เสียเวลาชีวิตนะ”
เวลาเจอเพื่อนร่วมรุ่นที่ทำงานเป็นหลักเป็นแหล่ง ทุกคนจะบ่นกลุ้มใจเรื่องต่าง ๆ อย่าง “งานโหด” “น่าเบื่อ” “หัวหน้าไม่ได้ความ” หรือ “อยากลาออก” แต่ถ้ามองจากมุมของฉัน มันก็คือความทุกข์ของคนที่มี “ที่ทางของตัวเอง” เรียบร้อยอยู่ในตึกใหญ่ใจกลางเมืองนั่นเอง
นอกจากนั้นยังเป็นช่วงที่ใคร ๆ เริ่มพากันแต่งงานและมีลูกด้วย เพื่อนบางคนย้ายตามสามีซึ่งได้ไปทำงานต่างประเทศ ขณะที่บางคนพยายามจะจัดการทั้งเรื่องงานและเรื่องลูกอย่างเต็มกำลัง ทุกคนต่างเริ่มพายเรือออกสู่ท้องทะเลแห่งชีวิตอันกว้างใหญ่
ห้องเรียนชงชาเองก็มีคนเข้าออกมากขึ้น “ยุมิโกะซัง” เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วและแต่งงานกับเพื่อนร่วมรุ่น “ทาโดโกโระซัง” ตำรวจหญิงเลิกเรียนเพราะมีลูก มีคุณนายยังสาวสองคนเข้ามาเรียนใหม่เพราะย้ายตามสามีมาที่โยโกฮามะ แต่พวกเธอก็ออกไปหลังจากเรียนได้ไม่ถึงสองปีเพราะมีลูกบ้าง สามีย้ายงานบ้าง เป็นยุคสมัยที่ชีวิตของผู้หญิงในช่วงวัยยี่สิบผันผวนอย่างรุนแรง
มิจิโกะซึ่งอยู่ด้วยกันมาตลอดและเข้าทำงานในบริษัทการค้าทันทีหลังเรียนจบ ก็ลาออกจากงานหลังจากทำได้สองปีเพื่อกลับไปเริ่มดูตัวที่บ้านเกิดในชนบท
ทั้งที่รอบตัวมีฉากชีวิตต่าง ๆ ดำเนินไป ไม่ว่าจะเป็น “ทำงาน” “แต่งงาน” หรือ “มีลูก” แต่ตัวฉันเองกลับยังลังเลสับสน ไม่มีแม้แต่งาน พออยู่บ้านพ่อแม่ก็ตำหนิไม่เว้นวันว่า
“ถ้าไม่ทำงานให้เป็นหลักเป็นแหล่ง ก็น่าจะไปดูตัวแล้วแต่งงานซะนะ”
สมัยเป็นนักศึกษาฉันมุ่งมั่นไว้แท้ ๆ ว่าจะต้อง “มีงานที่ทำได้ตลอดชีวิต และพึ่งพาตัวเองให้ได้” แต่สุดท้ายแล้วกลับไม่ได้เป็นอะไรเลย งานพาร์ตไทม์นิตยสารรายสัปดาห์เองก็ไม่รู่วาจะมีให้ทำไปถึงเมื่อไร
ฉันรู้สึกเหมือนมีแค่ตัวเองที่ยังไม่ได้เริ่มต้นใช้ชีวิตจริง ๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไรก็ยังได้แต่ยืนอยู่ตรงจุดสตาร์ต รู้สึกสั่นคลอนราวกับดำเนินชีวิตอยู่บนรองเท้าสเก็ตช์ก็ไม่ปาน ทั้งยังมีแรงกระตุ้นบ้า ๆ บอ ๆ เหมือนคนที่อยู่บนรถไฟแล้ว แต่กลับรู้สึกร้อนรนจนอยากลงไปวิ่งเองให้รู้แล้วรู้รอด
ฉันรู้สึกกระวนกระวายว่าจะต้องออกวิ่ง แต่ควรวิ่งไปที่ไหนก็ยังไม่รู้
………………………
แล้วประโยคที่ว่า “งั้นเรอะ ไม่เป็นไร ๆ ไว้เจอกันคราวหน้า” ก็กลายเป็นประโยคสุดท้ายที่พ่อคุยกับฉัน
ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลน้องชายเล่าให้ฟังว่า เช้าวันนั้นก่อนจะล้มพ่อพูดเหมือนตั้งตารอว่า
“พรุ่งนี้โนริโกะจะมา เราทำข้าวหุงหน่อไม้กินกันเถอะ”
ฉันกระแทกศีรษะกับผนังสีขาวขณะพยายามคิดให้ออกว่า เมื่อไหร่กันนะ ครั้งสุดท้ายที่เราล้อมวงกินข้าวพร้อมหน้าทั้งครอบครัวคือเมื่อไหร่กัน
ฉันพยายามรีบย้อนเวลากลับไป คิดว่าจะย้อนคืนสู่อดีตได้ แต่แล้วก็ได้รู้ว่าไม่มีทางทำได้เลย วงกินข้าวของสมาชิกครอบครัวสี่คนซึ่งฉันคิดว่าแสนธรรมดาและล้าสมัย กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหวนกลับมาได้อีกเป็นครั้งที่สอง ความเยียบเย็นของคำว่า “เป็นครั้งที่สอง” นั้นทำเอาฉันยืนนิ่งค้าง
ชีวิตคนเราย่อมต้องเผชิญกับช่วงเวลาแบบนี้เข้าสักวัน เวลาที่จะไม่ได้พบกันอีก “เป็นครั้งที่สอง”…
แต่ในวันงานศพของพ่อ ดอกซากุระก็ปลิวคว้างร่วงหล่นเหมือนตอนอวสานของละครจริง ๆ
วันนั้นอาจารย์ทาเคดะมาด้วยกันถึงฌาปนสถาน และบอกฉันเบา ๆ ว่า
“โนริโกะจัง ซากุระกลายเป็นความทรงจำแสนเศร้าไปแล้วนะ”
ฉันมองดูควันไฟสีเทาพลางตอบว่า “พ่อไปแบบปุบปับจริง ๆ…”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเราล้วนเป็นเรื่อง “กะทันหัน” เสมอ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน…
และต่อให้รู้ล่วงหน้า คนเราก็ไม่อาจเตรียมใจได้อยู่ดี จนกว่าเหตุการณ์นั้นจะกลายเป็นจริงขึ้นมา สุดท้ายแล้วก็ได้แต่ตื่นตระหนกและเศร้าเสียใจไปกับความรู้สึกที่เพิ่งจะเคยสัมผัสเป็นครั้งแรก เมื่อนั้นจึงได้ตระหนักว่าสิ่งที่ตัวเองสูญเสียไปคืออะไร
แต่เราใช้ชีวิตแบบอื่นนอกเหนือจากนี้ได้อีกหรือ เราไม่มีทางเตรียมใจได้จนกว่าวันนั้นจะมาถึงจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไรก็ตาม ที่เหลือก็ทำได้แค่อาศัยเวลาเพื่อให้คุ้นชินกับความโศกเศร้านั้นขึ้นทีละน้อย…
………………………
“ในวันที่ฝนตก ให้ฟังเสียงฝน จงอยู่ที่นี่ทั้งกายและใจ ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าของเธอดื่มด่ำกับปัจจุบันขณะให้เต็มที่ หากทำเช่นนั้นแล้วย่อมรู้ได้ว่า หนทางที่จะเป็นอิสระนั้นอยู่ที่นี่ เวลานี้ เสมอมา”
………………………
พวกเราต่างก็เศร้าเสียดายอดีต และวิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงอยู่เสมอ แต่ต่อให้กลัดกลุ้มสักแค่ไหนก็ไม่มีทางย้อนคืนวันเวลาที่ล่วงเลยไปแล้ว และไม่อาจเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เลย
ข้อมูลเพิ่มเติม
น้ำหนัก | 1 กก. |
---|---|
ขนาด | 12 × 2 × 22 เซนติเมตร |
Reviews
There are no reviews yet.