5 วิบากกรรมของ Studio Ghibli กว่าจะเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก

Published : มิถุนายน 12, 2023 | Blog | Editor :

สตีฟ อัลเพิร์ต ชาวอเมริกันที่เพิ่งมาทำงานในบริษัทญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี 1996 โดยรับตำแหน่งหัวหน้าแผนกต่างประเทศที่บริษัท โทคุมะ กรุ๊ป หรือบริษัทแม่ของ “สตูดิโอจิบลิ” ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในเวลานั้น

สตีฟต้องเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นที่แตกต่างจากคนอเมริกันมาก ในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำงานเพื่อผลักดันให้ภาพยนตร์แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิเป็นที่รู้จักไปถึงนานาประเทศให้จงได้ ภารกิจสำคัญเต็มไปด้วยเรื่องน่าปวดหัว พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหามากมายไม่ต่างไปจากออฟฟิศหรือบริษัทอื่นๆ

และนี่คือ 5 วิบากกรรมของ Studio Ghibli กว่าผลงานของพวกเขาจะเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก ซึ่งสตีฟได้บอกเล่าไว้ในหนังสือของเขา “ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ”

ก่อนจะดังในต่างประเทศได้ ผลงานของจิบลิจะต้องกล้าหาญและมุ่งมั่นไปเยือนต่างประเทศด้วยตัวเองให้ได้ก่อน และเรื่องสำคัญก็คือ ศิลปะแห่งการโน้มน้าวให้ผู้กำกับอย่าง “ฮายาโอะ มิยาซากิ” ผู้ที่มักจะตอบปฏิเสธเสียเป็นส่วนมาก ตกลงเดินทางไปโปรโมตภาพยนตร์ที่ต่างประเทศ

เจ้าของศิลปะแห่งการโน้มน้าวนี้คือ โทชิโอะ ซูซูกิ โปรดิวเซอร์ของหนังแทบทุกเรื่องของสตูดิโอจิบลิ ไม่มีใครรู้ว่าการโน้มน้าวนั้นมีวิธีอย่างไร อย่างน้อยๆ สตีฟ ก็ยังไม่ทราบแม้จะพยายามสังเกตและเรียนรู้ด้วยตัวเอง

และเมื่อซูซูกิทำสำเร็จ มิยาซากิก็ตกลงเดินทางไปโปรโมตภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง “เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร” หรือ Princess Mononoke ที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน หรือ แบร์ลีนาเลอ เทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำที่จัดขึ้นเป็นประจำในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ด้วยข้อแม้ว่าฮายาโอะ มิยาซากิ จะต้องได้ไปเวียนนา เพื่อเยี่ยมชมอาคารที่ก่อสร้างโดย ฟรีเดนส์ไรช์ ฮุนเดิร์ทวัสเซอร์ (Friedensreich Hundertwasser) ศิลปินและสถาปนิกชาวออสเตรียด้วย

…และแล้ว “เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร” ภาพยนตร์ปี 1997 ของสตูดิโอจิบลิก็กวาดรายได้ถล่มทลาย กว่า 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ญี่ปุ่นในตอนนั้น 

ความต่างของวัฒนธรรมและวิธีคิดระหว่างสตูดิโอจิบลิและดิสนีย์ ทำให้การทำสัญญาเพื่อให้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์กับดิสนีย์ในการจัดจำหน่ายทั่วโลกน่าปวดหัวไม่น้อย

พวกเขาใช้เวลาถึง 2 ปี กว่าการร่างสัญญาข้อตกลงระหว่าง “ยาสุโยชิ โทคุมะ” ประธานบริษัทโทคุมะ กรุ๊ป หรือบริษัทแม่ของจิบลิในเวลานั้น และ “ดิสนีย์” จะสำเร็จ

เมื่อเสร็จสิ้น ไมเคิล โอ. จอห์นสัน หัวหน้าฝ่าย Home Video ต่างประเทศของดิสนีย์ จึงนัดทั้งสองฝ่ายกินข้าวเพื่อเฉลิมฉลองในโตเกียว แต่ก่อนอาหารมาเสิร์ฟคุณโทคุมะกลับลุกขึ้นและบอกว่า เขาจะไม่ตกลงตามสัญญาและต้องการเงินค่า minimum guarantee ของภาพยนตร์ “เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร” เพิ่มเป็นสองเท่าจากดิสนีย์ ทำให้ ไมเคิล โอ. จอห์นสัน โกรธมากและลุกขึ้นตะโกนเสียงดังยืดยาว

พวกเขากลับมาพบกันวันรุ่งขึ้นโดยไม่มีคุณโทคุมะ และตกลงว่าจะใส่สิ่งที่คุณโทคุมะต้องการลงในสัญญา โดยมีข้อแม้ตัวเล็กเขียนด้วยภาษากฎหมายซับซ้อนที่ทำให้แน่ใจว่าดิสนีย์จะไม่มีวันต้องจ่ายเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น

อีกทั้งสัญญาระหว่างพวกเขาก็ยาวและซับซ้อนมาก เต็มไปด้วยศัพท์เฉพาะทางที่แม้แต่ทนายของดิสนีย์ที่เป็นคนร่างมันขึ้นมาเองก็ยังต้องอ่านซ้ำหลายรอบถึงจะเข้าใจ

ทีมการตลาดในประเทศของดิสนีย์มีปัญหากับหนังเรื่องต่าง ๆ ของสตูดิโอจิบลิ เช่น ใน “โทโทโร่เพื่อนรัก” หรือ My Neighbor Totoro มีฉากพ่อเปลือยกายอาบน้ำกับลูกสาว และพวกเขาตัดสินใจที่จะลองฉาย “แม่มดน้อยกิกิ” หรือ Kiki’s Delivery Service เรื่องที่พวกเขามองว่าสุ่มเสี่ยงน้อยที่สุดก่อนเป็นเรื่องแรก แม้สำหรับดิสนีย์ฉากกิกิขี่ไม้กวาดแล้วเห็นกางเกงในจะดูไม่เหมาะสมก็ตาม

ทางด้านไมเคิล โอ. จอห์นสัน หัวหน้าฝ่าย Home Video ต่างประเทศของดิสนีย์ในขณะนั้น มองการณ์ไกลด้วยการซื้อลิขสิทธิ์หนังเรื่องอื่น ๆ ของจิบลิมาก่อนที่ “เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร” จะออกฉายเสียอีก เพราะเขาคิดว่า “เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร” มีความรุนแรงเยอะไป แต่หลังจากเห็น trailer ของหนังที่ปรับแก้แล้วก็พอใจที่เห็นฉากจูบ (ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่)

ทว่า “เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร” ก็ยังคงมีความล้ำสมัยหรืออาร์ตเกินไปสำหรับดิสนีย์ เลยถูกจัดจำหน่ายโดยบริษัทลูกของดิสนีย์ที่ยังตั้งได้ไม่นาน ชื่อ “มิราแม็กซ์” แทน

ดิสนีย์เพิ่มบทพูด เสียงดนตรี และซาวนด์เอฟเฟ็กต์ เข้ามาในฉบับซับอังกฤษของเรื่อง “ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา” หรือ Castle in the Sky และ “แม่มดน้อยกิกิ” ซึ่งผิดจากสัญญาที่ตกลงกันไว้ สตีฟ จำต้องบินไปที่เบอร์แบงก์ สำนักงานใหญ่ของดิสนีย์เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้และดิสนีย์ก็เอามันออกให้เขา แต่เฉพาะ “ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา” เท่านั้นนะ เพราะแผ่น VCR ของ “แม่มดน้อยกิกิ” ถูกผลิตไปแล้ว

และเมื่อมิราแม็กซ์ บริษัทลูกของดิสนีย์ จะพากย์ “เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร” เป็นภาษาอังกฤษ แต่ทีมโปรดักชั่นกลับไม่มีประสบการณ์ในการพากย์หนังต่างประเทศ จึงเกิดความวุ่นวายในการพากย์เสียงภาพยนตร์เรื่องนี้

แถมเมื่อพากย์เสร็จ ทีมเสียงของมิราแม็กซ์ก็เริ่มมิกซ์เสียงภาพยนตร์ และอยากใส่เสียงซาวนด์เอฟเฟ็กต์มากมายเข้ามา ซึ่งสตีฟออกมาคัดค้าน แต่ทีมมิราแม็กซ์ยังยืนยันว่ามันจะทำให้หนังดีขึ้น

หลังกระบวนการที่ยาวนาน ยากลำบาก และใช้เงินไปมหาศาลสิ้นสุดลง ในที่สุดภาพยนตร์เรื่อง “เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร” ฉบับพากย์ภาษาอังกฤษก็เสร็จสมบูรณ์และออกมายอดเยี่ยม

สตีฟได้พบการละเมิดสิขสิทธิ์ภาพยนตร์แอนิเมชันของพวกเขา จากการขยายธุรกิจในไต้หวัน และจีน

ในไต้หวัน “โทโทโร่เพื่อนรัก” ได้รับรายงานว่า เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่โด่งดังที่สุดตลอดกาลในไต้หวัน แต่บริษัทที่ถือลิขสิทธิ์ของจิบลิที่นั่นกลับรายงานยอดขายเกือบศูนย์ ตั้งแต่ช่วงที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปแรกๆ

แถมบริษัทบันเทิงในท้องถิ่นของไต้หวันหลายเจ้าก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์เอง ภายหลังสตูดิโอจิบลิได้ยกให้ดิสนีย์ไต้หวันเป็นผู้จัดการเรื่องการจัดจำหน่ายแทน

สำหรับในจีน ซึ่งรัฐบาลควบคุมคอนเทนต์ต่างๆ ในประเทศอย่างเข้มงวด จึงเป็นการยากที่บริษัทบันเทิงจากต่างชาติจะเข้ามาทำกำไร

แต่เมื่อสตีฟได้ไปดูงานที่ C-T บริษัทจัดจำหน่ายของสตูดิโอจิบลิในจีน ก็มีโอกาสได้พบกับร้านขายแผ่นภาพยนตร์/วิดีโอขนาดใหญ่หลายแห่งในเซี่ยงไฮ้ มีโซนภาพยนตร์ของสตูดิโอจิบลิที่กินพื้นที่ไปเกือบครึ่งร้าน โดยเป็นฉบับละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมด

 ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ
Sharing a House with the Never-Ending Man: 15 Years at Studio Ghibli
.
#เรื่องย่อ
หนังสือ “ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ” จะว่าเป็นอัตชีวประวัติแนวธุรกิจก็ใช่ จะว่าเป็นเรื่องเล่าที่สนุกสนานก็ใช่ และอีกด้านที่สำคัญ คือ เรื่องเล่าของวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น และการทำงานใน #สตูดิโอจิบลิ อย่างถึงพริกถึงขิงผ่านมุมมองของ “สตีฟ อัลเพิร์ต” คนต่างชาติที่ต้องปรับตัว รับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ
.
สตีฟ อัลเพิร์ต คือ ชายชาวอเมริกัน ผู้บริหารระดับสูงของสตูดิโอจิบลิ มีบทบาทสำคัญในช่วงที่ภาพยนตร์จิบลิเริ่มขายลิขสิทธิ์ในต่างแดน เป็นโต้โผในการทำให้ภาพยนตร์ของจิบลิออกมาโลดแล่นนอกประเทศญี่ปุ่นและมีแฟนคลับอยู่ทั่วทุกมุมโลกอย่างทุกวันนี้
.
เขาจะถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานจากตลอดระยะเวลาสิบห้าปีที่อยู่กับจิบลิ ออกมาให้เราทุกคนได้ทำความรู้จักสตูดิโอจิบลิมากขึ้น
.
พาผู้อ่านร่วมทริปท่องไปในโลกการทำงานของจิบลิ , อยู่กับเขาในขณะที่เขาแบกม้วนฟิล์มภาพยนตร์ขนาดใหญ่ขึ้นเครื่องบินไปแคลิฟอร์เนีย , นั่งข้างๆ เขาในตอนที่โดน ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ตะโกนใส่ , รับมือกับเหล่านักการตลาดของดิสนีย์ และร่วมในงานประกาศรางวัลออสการ์ที่ภาพยนตร์เรื่อง Spirited Away คว้ามาได้
.
…ขอเชิญคุณก้าวเข้าสู่โลกของสตูดิโอจิบลิไปพร้อมๆ กันกับเรา

แท็ก


Related Content