Roundfinger x Wabi Sabi x Storytel ความงามของความไม่สมบูรณ์แบบในสายตาของนิ้วกลม

Published : พฤษภาคม 8, 2023 | Blog | Editor :

Roundfinger x Wabi Sabi
ความงามของความไม่สมบูรณ์แบบในสายตาของนิ้วกลม

เรารู้จัก ‘นิ้วกลม’ เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ในหลายบทบาท – นักเขียน พิธีกร หรือแม้แต่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ในหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะยูทูบก็ดี พอดแคสต์ที่เล่าถึงเนื้อหาหนังสือก็ดี หรือแม้แต่ในคลับเฮาส์ก็ดี

แต่บทบาทที่นิ้วกลมไม่เคยทำมาก่อน คือการเป็นคนอ่านหนังสือเสียง หรือ Audio Book – การได้ร่วมงานกับ Storytel แอปพลิเคชั่นหนังสือเสียงที่จะเป็นตัวเลือกให้คนรักหนังสือ ได้มีช่องทางในการเสพคอนเทนต์มากขึ้น จึงเป็นโอกาสใหม่ที่ท้าทายคนที่คลุกคลีกับหนังสือมาตลอดชีวิตอย่างเขา (และก็ไม่ใช่งานง่ายเลย เขาแอบกระซิบ)

หนังสือเล่มแรกที่นิ้วกลมจะอ่านให้ฟังผ่าน Storytel คือ ‘Wabi Sabi วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต’ ของสำนักพิมพ์ Being เรานี่แหละ 😀 เลยเป็นโอกาสดีที่เราจะชวนนิ้วกลมมานั่งคุยกันในหลายประเด็น เช่นความเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ว่าต่างจากหนังสือวะบิ ซะบิ เล่มอื่นที่เขาเคยอ่านอย่างไร, การมองเห็นแง่งามในความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตเขาเอง หรือแม้แต่การรับบทนักอ่าน มันต่างจากการเป็นนักเขียนมากน้อยแค่ไหน

“ก่อนอื่นต้องบอกว่าไม่ได้เป็นผู้รู้ด้านนี้ แค่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับวะบิ ซะบิ จริงๆ กระทั่งคนญี่ปุ่นเองก็ยังไม่กล้านิยามคำนี้เลย เขาจะแบบ อะโน…(หัวเราะ)” นิ้วกลมออกตัว เมื่อถูกขอให้อธิบายคำว่าวะบิ ซะบิ อย่างคร่าวๆ แบบ ‘Wabi Sabi 101’

“ถ้าถามเรา เอาตามความเข้าใจนะ มันอาจจะเป็นความงามที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ซึ่งมันก็เหมาะกับโลกสมัยใหม่ ความงามแบบนี้มันอาจจะสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น และเราแอบคิดว่า ที่จริงมันอยู่ในทุกบ้านเมืองที่มีวิธีคิดแบบศาสนาพุทธอยู่ในสังคม ซึ่งญี่ปุ่นมันชัด”

แล้วทำไมมันน่าสนใจในโลกสมัยใหม่ล่ะ “เพราะมันถูกพูดในสมัยใหม่ ซึ่งความสมัยใหม่มาพร้อมกับความโมเดิร์น ทุกสิ่งมีมาตรฐาน ประตูบานประมาณเท่านี้ เก้าอี้สูงประมาณนี้ ทุกอย่างเป็นมาตรฐานโดยที่เราไม่รู้ตัว ทำให้เราตกอยู่ในวิถีชีวิตแห่งการคาดหวังความสมบูรณ์แบบที่ได้ตามมาตรฐาน แล้วสุดท้าย..โดยไม่รู้ตัว เราก็คาดหวังให้ตัวเองสมบูรณ์แบบด้วย พอเราอยู่ในโลกที่มีค่านิยมแบบนี้ มันก็เครียดไม่รู้ตัว คนบ้าอะไรจะสมบูรณ์แบบ โลกที่ไหนมันจะสมบูรณ์แบบ”

“วะบิ ซะบิ ทำให้เราเห็นว่า มันมีความงามชนิดหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์ เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา บางครั้งก็ชวนเศร้า แต่ความเศร้านั้นมันสวยมาก เพราะมันไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ไม้ที่คุณใช้อยู่มันจะเก่าไปเรื่อยๆ บ้านที่คุณอยู่มันจะผุพัง ซากุระที่มันออกดอกงดงาม แป๊บนึงก็จะร่วงหล่น”

“ชีวิตคุณก็เหมือนกัน พ่อแม่ คนรัก โมเมนต์ที่มีต่อกันมันไม่ได้ยั่งยืน วันหนึ่งก็จะผ่านไป แต่มันก็ยังงามเพราะเราตระหนักและยอมรับว่ามันจะขาดหายความสมบูรณ์แบบไปเรื่อยๆ ซึ่งไอ้ความขาดหายไปเนี่ย มันสวย และก็พุทธมากๆ”

ที่น่าคิดคือ ทำไมแนวคิดที่ว่าด้วยความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ ถึงมีต้นทางมาจากประเทศที่ได้ชื่อว่าเคร่งครัดในความเป็นระเบียบและสมบูรณ์แบบสุดๆ อย่างญี่ปุ่น “ญี่ปุ่นเนี่ย ถ้ากลับไปดูที่ภูมิประเทศ มันเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยวิบัติภัยทางธรรมชาติ สึนามิ ภูเขาไฟ แผ่นดินไหว มีโอกาสเกิดขึ้นตลอดเวลา”

“ทำให้คนญี่ปุ่นเขาตระหนักว่าชีวิตไม่แน่นอน ธรรมชาติมันยิ่งใหญ่มาก และมีโอกาสเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันในฐานะมนุษย์ คุณก็ต้องสร้างสิ่งที่มันมั่นคง และเชื่อใจได้ ไม่งั้นคุณจะเอาอะไรไปมั่นใจเวลาขึ้นไปบนตึกในเมืองที่พร้อมจะแผ่นดินไหวตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกัน ลึกที่สุด คนเขาก็เชื่อว่าไม่มีอะไรแน่นอน มันมาพร้อมๆ กัน”

“สิ่งที่ทำให้ความคิดแบบวะบิ ซะบิ อยู่ในสังคมญี่ปุ่นได้ คิดว่ามาจาก 2 สิ่งใหญ่ๆ หนึ่งคือชินโต ที่เป็นลัทธิของญี่ปุ่นที่ผูกโยงกับธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือความเปลี่ยนแปลง เราอยู่อย่างเคารพธรรมชาติ ซึ่งความเคารพเนี่ย ไม่ได้หมายความว่าจะไหว้ภูเขาไหว้แม่น้ำนะ แต่เคารพในความเปลี่ยนแปลง อีกอันก็คือเซน ก็คือความไม่จีรังยั่งยืน ซึ่งก็เป็นคำสอนแบบพุทธเหมือนกัน”

ถ้าไม่ยกตัวอย่างก็อาจจะไม่เห็นภาพ เลยอยากรู้ว่านิ้วกลมนำแนวคิดแบบวะบิ ซะบิ มาใช้กับชีวิตอย่างไรบ้าง

“จริงๆ แล้วแทบทุกอย่างในชีวิตเลยนะ มันอยู่ที่เราจะกดโหมดนั้นไหม เช่นถ้าเรามองไปที่พระอาทิตย์ตอนกำลังจะตกดิน นี่ก็วะบิ ซะบิได้นะ เพราะมันสวยงาม แต่แค่ 5 นาทีถัดจากนั้นมันก็หายวับไปแล้ว”

“แต่ถ้าเป็นอะไรที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ เราก็เป็นคนที่จะชอบสิ่งของที่มันไม่สมบูรณ์นะ แต่ก่อนอาจจะชอบแก้วน้ำที่มันวาว ปั้นมาอย่างอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้บ้านเราแทบไม่มีแก้วแบบนั้นเลย ถ้วยก็จะซื้อที่มันบิดๆ เบี้ยวๆ หน้าตาไม่ต้องเหมือนกัน”

“หรือเวลาเจออะไรที่มันพยายามจะสมบูรณ์ จะไม่ค่อยประทับใจ เช่นพวกอาคารสมัยใหม่ที่ดูน่าตื่นตาตื่นเต้น เพราะความตื่นเต้นอะ มันจะกระทำอะไรบางอย่างกับเราชั่วเวลาสั้นๆ แต่อาคารที่อยู่สบาย สิ่งที่ดูไม่หวือหวา มันจะอยู่ได้นาน”

หนังสือวะบิ ซะบิ ทั้งฉบับแปลไทยและภาษาอื่น ก็มีตั้งมากมายหลายเล่ม (แน่นอนว่าทั้งหมดต่างว่าด้วยเรื่องเดียวกัน) แล้วเจ้าเล่มที่เขียนโดยเบท เคมป์ตัน มันต่างจากหนังสือวะบิ ซะบิ เล่มอื่นอย่างไร

“เราเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับวะบิ ซะบิ มาประมาณ 3 เล่ม ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย สิ่งที่คิดว่าเล่มนี้มันน่าสนใจก็คือ การเป็นหนังสือเกี่ยวกับค่านิยมของญี่ปุ่นที่เขียนโดยฝรั่ง”

“ถ้าแบ่งแบบเร็วๆ หยาบๆ คือค่านิยมของตะวันตกมักจะเน้นไปที่หัว ส่วนมากค่านิยมของคนตะวันออกจะเน้นที่หัวใจ พูดง่ายๆ ว่าตะวันตกจะใช้ตรรกะความคิดมากกว่าความรู้สึก แต่พอหนังสือที่ว่าด้วยค่านิยมตะวันออกไปตกอยู่ในมือผู้เขียนจากตะวันตก กลายเป็นว่าเขาอธิบายในสิ่งที่คนตะวันออกอธิบายไม่ค่อยเคลียร์ ได้เข้าใจกว่า ฝรั่งเขาอธิบายเก่งอะ”

“เช่นเวลาอ่านหนังสือธรรมะที่ฝรั่งเขียน เขาก็ไม่มาทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่จะใช้คำที่เข้าใจเลย อ่านแล้วก็จะเข้าใจง่าย”

“เบท เคมป์ตัน ก็เขียนได้ละเอียด บางทีการเข้าใจง่ายมันมาพร้อมการย่นย่อจนง่ายเกินกว่าความลึกซึ้งที่มันเป็น เพราะสำหรับคนญี่ปุ่น วะบิ ซะบิ มันก็ลึกมาก แต่เล่มนี้จะค่อยๆ คลี่ความหมายของวะบิ ซะบิ ทีละมุมๆ จนเห็นมันอย่างละเอียดมาก”

“และอีกอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นคาแรคเตอร์การเขียนของเขา คือเขาจะผสมการเขียนสามแบบอยู่ในเล่ม หนึ่งคือพูดถึงความหมายในเชิงความรู้สึก ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่ค่อนข้างตะวันออก สองคือ ยกตัวอย่างเหตุการณ์เพื่อช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้น สามคือ มันมีความเป็นฮาวทูด้วย (หัวเราะ) มันจึงค่อนข้างครอบคลุม”

แล้วอะไรคือความไม่สมบูรณ์แบบของเล่มที่ว่าด้วยความงามในความไม่สมบูรณ์แบบเล่มนี้

“คำถามดี (หัวเราะ) เราไม่คิดว่ามันคือความไม่สมบูรณ์แบบนะ แต่มันอาจจะเป็นความคาดหวังของคนอ่าน ว่าเขาคาดหวังอะไรจากมัน เพราะสิ่งที่เป็นจุดแข็ง มันจะเป็นจุดเดียวกับจุดอ่อนเสมอ ถ้าคุณเร็ว คุณก็จะไม่รอบคอบ ถ้าคุณประณีตมาก คุณก็จะช้า”

“เหมือนกัน จุดแข็งของเล่มนี้ที่ประกอบด้วยวิธีเล่าสามแบบ ถ้าคุณเป็นคนที่อ่านด้วยอารมณ์มากๆ คุณก็อาจจะไม่ชอบพาร์ทฮาวทูเลยก็ได้ ส่วนคนที่ชอบพาร์ทฮาวทู ก็อาจจะคิดว่าแล้วจะมัวพรรณนาทำไม สำหรับเรา เราจะชอบหนังสือหลายๆ แบบ ก็เลยชอบวิธีการเล่าของเล่มนี้ (หัวเราะ)”

ถัดจากการเป็นคนเขียนหนังสือ และคนเล่าเนื้อหาในหนังสือผ่านพอดแคสต์ บทบาทล่าสุดที่เกี่ยวกับหนังสือของนิ้วกลม คือการเป็น ‘คนอ่าน’ หนังสือให้คนอื่นฟังผ่านแอปพลิเคชั่น Storytel ในรูปแบบ Audiobook

“มันก็เป็นกิจกรรมที่สนุกดี ตั้งแต่แรกก็คิดว่า มันดีเหมือนกันที่เสียงของเราได้ไปอยู่ในไฟล์ที่เล่าเรื่องหนังสือ ที่เราก็เชื่อว่ามันเป็นหนังสือที่ดี และเราก็ชอบมันด้วย ก็น่าดีใจที่คนจะได้ฟังเสียงเรา”

มันต่างจากการอ่านหนังสือแบบปกติอย่างไร “การอ่านหนังสือแบบนี้ มันไม่ต่างกับการคัดลอก เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนคำ หรือรวบรวมแล้วสรุปใจความที่เราเข้าใจแล้วพูดได้ ไม่เหมือนการทำพอดแคสต์เพื่อเล่าหนังสือ อันนี้มันคือการอ่านหนังสือที่ต้องเป๊ะทุกคำ พลาดก็ต้องแก้”

“ทาง Storytel ก็ไกด์ว่า ควรอ่านด้วย pace ที่ช้า คนฟังจะได้เคลียร์ มันจึงไม่ใช่การอ่านแบบรวบๆๆๆ ต้องอ่านแบบช้าๆ ซึ่งสำหรับคนฟัง ถ้าฟังด้วย pace นี้ เขาจะสบาย แต่สำหรับคนพูด มันจะช้ากว่าของจริงนิดนึง”

“อีกความท้าทายของการอ่านหนังสือในลักษณะนี้คือ นักเขียนแต่ละคนจะมีภาษาไม่เหมือนกัน ตัวเราเองก็มีภาษาของเราเอง ฉะนั้นพอเราอ่านหนังสือที่คนอื่นเขียนหรือแปล ก็จะเจอบางคำที่แบบ..ถ้าเป็นเราก็จะไม่เขียนแบบนี้ ซึ่งเราก็ต้องสวมวิญญาณเป็นเขา ต้องให้เกียรติต้นฉบับ คุณทำหน้าที่เป็นแค่เสียง ไม่ได้มีสิทธิ์ไปเปลี่ยนคำ”

Audiobook จะมีประโยชน์ต่อคนรักหนังสือมากน้อยแค่ไหน “ในโลกยุคปัจจุบันนี้ สื่อมีเยอะมาก คอนเทนต์ก็มีให้เราเสพเยอะ ในหลายรูปแบบ และมันจู่โจมเรามากเลย ก็ต้องยอมรับว่าคนมีเวลาอ่านน้อยลง ส่วนตัวเราเชื่อว่าคอนเทนต์ที่เป็นหนังสือ ยังสำคัญอยู่ เพราะหนังสือมันเป็นเนื้อเป็นหนัง มันลึก ต่างจากบทความออนไลน์ เพราะฉะนั้นในเมื่อมันสำคัญ ต่อให้เรามีเวลาน้อยลง ก็ควรจะต้องเสพมันด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง”

“หนังสือเสียงอาจเป็นตัวช่วยให้คนที่มีเวลาน้อย ได้ฟังหนังสือ แทนที่การอ่านหนังสือ ส่วนกลุ่มคนที่อาจจะไม่ได้ชอบอ่าน แต่ชอบฟัง อันนี้ก็จะช่วยให้เขามีทางเลือกมากขึ้นในการฟัง”

“ยุคนี้ยังไงคอนเทนต์ก็สำคัญอยู่แล้ว แต่คอนเทนต์เรื่องเดียวกันที่ถูกนำเสนอด้วยวิธีต่างกัน มันก็จะต่างกันนะ เและกับการฟัง มันก็จะคนละ pace กับการอ่าน วิธีการทำความเข้าใจกับเนื้อหาจึงต่างกัน การนำเสนอด้วยสื่อจึงมีผลมากๆ และมีความสำคัญไม่แพ้ตัวคอนเทนต์เลย”

แท็ก


Related Content