เป็นไปได้ไหมที่ ‘ชีวิตวัยเกษียณ’ จะยังสดใสและได้ทำงานที่ชอบอย่างสร้างสรรค์ 

Published : พฤศจิกายน 4, 2024 | Blog | Editor :

1 — “ตามมุมมองชีวิตแบบดั้งเดิม เราจะสมบูรณ์พร้อมที่สุดในช่วงวัยกลางคนจากนั้นก็เกษียณ และเริ่มเสื่อมถอยไป” โจ แอนน์ เจนกินส์กล่าว เธอคือประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้เกษียณอายุแห่งอเมริกา

เจนกินส์มองว่าปัญหาในระบบการเกษียณอายุที่มีอยู่ก็คือ ระบบแบบนี้ทำให้คนพึ่งพาเงินประกันสังคมบำนาญจากนายจ้าง เงินออม หรือทรัพย์สินที่มี แทนที่จะส่งเสริมให้คนดูแลชีวิตตัวเองในช่วงยี่สิบปีสุดท้ายให้ได้

“แทนที่จะมองเห็นแค่คนวัยเกษียณที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ เราควรเริ่มได้เห็นแรงงานแบบใหม่ที่มีประสบการณ์และทำงานได้ดี แทนที่จะเห็นกลุ่มคนที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น เราควรได้เห็นชุมชนคนหลากหลายวัยที่กำลังเติบโตขึ้นพร้อมจุดแข็งแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม”

เจนกินส์กำลังบอกให้เราลืมเส้นแบบระหว่างวัยเรียน วัยทำงาน และวัยเกษียณไป

2 — ภาพยนตร์ปี 2015 เรื่อง ‘ดิ อินเทิร์น โก๋เก๋ากับบอสเก๋ไก๋’ (The Intern) นำเสนอภาพการทำงานของคนวัยเกษียณที่ต่างจากมุมมองชีวิตแบบดั้งเดิม คล้ายกับที่เจนกินส์คิด

ในเรื่องโรเบิร์ต เดอ นิโร รับบทเป็นเบน วิตเทเกอร์ พ่อหม้ายวัยเจ็ดสิบที่บ่นเรื่องชีวิตวัยเกษียณที่น่าเบื่อเกินทนไหว “ผมใช้เวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตยังไงน่ะเหรอ เยอะแยะ ตีกอล์ฟ อ่านหนังสือ ดูหนัง เล่นไพ่ ลองฝึกโยคะ หัดทำอาหาร ซื้อต้นไม้มาปลูก เรียนภาษาจีนแมนดาริน เชื่อเถอะ ผมลองมาหมดแล้ว”

สุดท้ายเขาก็ได้ไปทำงานที่บริษัทสตาร์ตอัปแฟชันออนไลน์ที่ตั้งอยู่ในย่านบรูกลิน ภายใต้โครงการใหม่เอี่ยมของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดึงดูดพนักงานฝึกหัดสูงวัย

ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของสตาร์ตอัปแห่งนี้คือจูลส์ ออสติน รับบทโดยแอนน์ แฮททาเวย์ ในที่สุดเบนก็กลายมาเป็นที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดและคนสนิทของเธอ แล้วเขาก็ยังมีความสุขมากขึ้นด้วย

3 — ภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่า การทำงานหลังเกษียณไม่ได้เป็นผลมาจากความผิดพลาดทางด้านการเงินหรือการวางแผนที่ไม่ดีเพียงอย่างเดียว มีหลักฐานเชิงจิตวิทยาที่สนับสนุนด้วยว่า ความจำเป็นทางการเงินคือแรงจูงใจหลักในการหางานหลังเกษียณ แต่จิตใจก็มีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย เช่น

– คนที่มองว่างานตอบสนองความต้องการในทางสร้างสรรค์ อย่างงานที่เปิดโอกาสให้ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับคนอื่นและช่วยเสริมสร้างสังคม มักจะหางานหรือกิจกรรมอาสาสมัครทำ

– คนที่อยู่ในวัยเกษียณแล้วแต่ยังทำงานอยู่ ให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตัวเองและเติมเต็มความต้องการส่วนตัว มักจะเป็นเจ้านายตัวเอง

– คนที่อยากจะมีส่วนเสริมสร้างสังคมหรือทำอะไรเพื่อร่ายกายและจิตใจของตัวเอง มักจะเป็นลูกจ้างคนอื่น

4 — เมาโร เอฟ. กิลเยน ผู้เขียนหนังสือ #อีกไม่นานเราจะเป็นมนุษย์รุ่นเดียวกัน มองว่า ทางที่ดีคือเราไม่ควรยัดเยียดโมเดลชีวิตแบบเดิม แต่ควรให้คนได้มีตัวเลือกระหว่างวิธีการจัดการความสัมพันธ์ในการจ้างงานแบบเดิมและวิธีการรูปแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ ยืดหยุ่น และมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย

ให้คนวัยเกษียณสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานได้อย่างเต็มที่ถ้าหากพวกเขาต้องการ ระบบที่ยืดหยุ่นกว่าเดิมทำให้วัยเกษียณไม่ได้ต้องเป็นวาระสุดท้ายของชีวิตเสมอไป

เพราะโลกของเรามีคนสูงวัยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ย้อนกลับมาทำงานหลังเกษียณออกไปแล้ว และโหยหาโอกาสที่จะได้สร้างสรรค์ มีส่วนร่วม และยังได้กระตือรือร้นต่อไป เช่นเดียวกับที่ เบน วิตเทเกอร์ ได้ประสบพบเจอนั่นเอง

__________

🌳 อีกไม่นาน เราจะเป็นมนุษย์รุ่นเดียวกัน

The Perennials

แท็ก


Related Content