Must Read “ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ (How to Fix a Broken Heart)”

Published : พฤษภาคม 15, 2024 | Blog | Editor :

‘Keep Calm And Carry On’ เป็นข้อความที่สร้างความเชื่อว่าเราต้องใจเย็นเข้าไว้แล้วก้าวเดินต่อไป เราต้องใช้ชีวิตได้ตามปกติ แม้ในจิตใจยังมีสิ่งผิดปกติอย่างมากดำเนินอยู่ … ซึ่งไม่ถูกต้อง

‘ความเจ็บปวด’ มักเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว คงจะดีหากเรามีปุ่มควบคุมอารมณ์ที่สามารถกดหยุดความเจ็บปวดได้ทันทีเมื่อรู้สึกทนไม่ไหว น่าเสียดายที่ปุ่มดังกล่าวไม่มีอยู่จริง ส่วนสิ่งที่มีจริงกลับเป็นปุ่มที่ทำให้เรารู้สึกแย่ลง ทั้งเพิ่มความโศกเศร้าและทำให้เรื้อรัง ซึ่งเราต่างกระหน่ำกดปุ่มนี้ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว 

พฤติกรรมและนิสัยที่เราใช้จัดการกับ ‘ภาวะใจสลาย’ มีแนวโน้มแต่จะทำให้ความเจ็บช้ำยิ่งย่ำแย่ ถ่วงกระบวนการฟื้นฟู และถึงขั้นทำลายสุขภาพจิตในระยะยาว ที่สำคัญคือสังคมให้น้ำหนักกับความใจสลายไม่เท่ากัน ทำให้การสูญเสียที่ไม่สำคัญในสายตาของคนทั่วไปถูกมองว่าเป็นความโศกเศร้าที่ไม่จริงจัง เป็นความทุกข์ทางอารมณ์ที่ไร้เหตุผล และเจ้าตัวก็อับอายที่จะเล่าหรือขอคำปรึกษาจากใครแม้กระทั่งคนใกล้ตัว 

‘ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ’ (How To Fix A Broken Heart) จะพาคุณไปรู้จักและทำความเข้าใจภาวะใจสลายสองแบบที่มักถูกมองข้าม ได้แก่ ภาวะใจสลายจากความสัมพันธ์ระยะสั้นและภาวะใจสลายจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยง ผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าวมักมีอาการโศกเศร้ารุนแรง แต่โชคร้ายที่คนรอบตัวเขากลับมองไม่เห็นความสาหัสเหล่านั้น 

เมื่อถูกตัดสินว่าอ่อนไหวเกินไป ไม่รู้จักโต หรือเป็นคนอ่อนแอ พวกเขาจึงเหลือเพียงแค่ ‘ตัวเอง’ เป็นที่พึ่งสุดท้าย ตัวอย่างทั้ง 6 เคส มีเรื่องราวของ … 

เคที — กับมะเร็งเต้านมที่เจ็บปวดน้อยกว่าการถูกบอกเลิก

เบน — ที่ต้องฝืนใจทำงานขณะสุนัขคู่ใจกำลังจะตายจากไป 

ลอเรน — ผู้ใจสลายจากการเดตเพียงครั้งเดียว

เดฟ — ซึ่งยังแอบส่องแฟนเก่าที่เลิกกันไปนานยี่สิบปีแล้ว 

ลินด์ซีย์ — ผู้สูญเสียตัวตนไปพร้อมกับแมวที่รัก

เกร็ก — ที่เรียนรู้ว่าเจ็บใจไม่น่าเห็นใจเท่าเจ็บข้อเท้า

คำแนะนำจากการบำบัดในหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คุณค้นพบการเยียวยาตัวเองและเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อผู้คนรอบตัว

#เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.กาย วินช์ เป็นนักจิตวิทยา นักเขียน และนักพูด เจ้าของผลงานหนังสือเล่มดังอย่าง The Squeaky Wheel  และ ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ (Emotional First Aid) เขาก้าวเข้ามาศึกษาด้านสุขภาพจิตด้วยความตั้งใจจะคลายความทุกข์ทางอารมณ์และจิตใจให้ผู้คน 

ในฐานะนักจิตวิทยาที่ให้การบำบัดต่อเนื่องมายาวนานกว่ายี่สิบปี และนั่งต่อหน้าคนใจสลายมาเป็นร้อย ๆ คน เขามุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะใจสลาย เพื่อให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบอันร้ายแรงต่อคนทุกวัย เนื่องจากการฟื้นฟูจิตใจไม่สามารถหวังพึ่งเพียงหมอและยาได้เท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากคนรอบตัวด้วย  

How to Fix a Broken Heart เคยถูกแปลมาแล้วครั้งหนึ่งในชื่อว่า ‘สูญเสียแค่ไหน ก็ไม่เสียศูนย์’ โดยสนพ. Maxx Publishing สำหรับฉบับพิมพ์ใหม่ล่าสุดของสนพ. Be(ing) เป็นการแปลใหม่จากต้นฉบับเดียวกัน

———-

🔧 ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ 

How to Fix a Broken Heart

ผู้เขียน กาย วินช์ (Guy Winch)

ผู้แปล ศิริกมล ตาน้อย

ออกแบบปก ROUTINE

แท็ก


Related Content