BRIEFING “ความถูกต้องอยู่ข้างใคร”
Published : เมษายน 27, 2023 | Blog | Editor :
“เรายังจะอยู่ร่วมกันได้ไหม”
หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยคำอ้อนวอนที่โด่งดังเมื่อปี 1992 โดย รอดนีย์ คิง ชายผิวดำผู้ซึ่งเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ได้ถูกรุมทำร้ายปางตายโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจลอสแองเจลิสสี่นาย แต่คณะลูกขุนเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านี้ไม่ได้ จุดให้เกิดกระแสความโกรธแค้นแพร่ลามออกไป กลายเป็นการจลาจลทั่วลอสแองเจลิสนานหกวัน มีผู้เสียชีวิตห้าสิบสามคน มีตึกรามมากกว่าเจ็ดพันแห่งถูกวางเพลิงเผาทำลาย
จนถึงตอนนี้ คำอ้อนวอนของคิงถูกนำมาใช้กันจนเกร่อ แต่สิ่งที่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญคือ ในวันนั้น คิงยังกล่าวต่อไปได้อย่างน่าฟัง วันนั้นเขาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์อย่างตะกุกตะกัก พยายามกลั้นน้ำตาจนทำให้พูดวนไปวนมา กระทั่งเขาเจอคำที่เหมาะสมว่า “ได้โปรดเถิด เราอยู่ร่วมกันได้ เราทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ผมหมายความว่า เราติดอยู่ตรงนี้กันมาพักใหญ่ๆ แล้ว เรามาลองหาทางออกร่วมกันเถอะ”
หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับคำถามที่คนยุคนี้ต้องการคำตอบกันมากขึ้น นั่นคือ ‘ทำไมการอยู่ร่วมกันถึงได้ยากเย็นเสียเหลือเกิน’ ‘ทำไมมันช่างง่ายดายที่เราจะเป็นปรปักษ์แบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ยึดมั่นในความถูกต้องดีงามของตน และด่าประณามความถูกต้องดีงามของอีกฝ่าย’
จากการทำวิจัยตลอด 25 ปี โจนาทาน ไฮดต์ก็ได้พบคำตอบต่อคำถามข้างต้นเหล่านั้นคือ
ความแตกต่างในแนวคิดเกี่ยวกับความถูก-ผิด, ดี-เลว หรือเรียกรวมว่า ศีลธรรมนั้นมีที่มาจากหลักการใหญ่ๆ 3 ประการ
1. ปัญญาญาณมาก่อน เหตุผลกลยุทธ์จึงตามมา
2. ความต่างของรากฐานทางศีลธรรม
3. ศีลธรรมผูกมัดและมืดบอด
ปัญญาญาณมาก่อน เหตุผลกลยุทธ์จึงตามมา
……….
เมื่อเราต้องตัดสินว่าสิ่งใดถูกต้องดีงาม ว่าสิ่งใดผิดหรือเลวทราม สิ่งที่เราใช้ในการตัดสินคือ ‘ปัญญาญาณศีลธรรม’ ที่ผุดขึ้นมาโดยอัตโนมัติและแทบทันทีทันใด นานก่อนที่การใช้เหตุผลในสมองจะเริ่มต้นขึ้น และปัญญาญาณแรกนี้ก็มีแนวโน้มจะขับเคลื่อนให้เราคิดหาเหตุผลมาสร้างความชอบธรรมให้แก่มัน
หากเปรียบกับควาญที่ขี่อยู่บนหลังช้างแล้ว ควาญก็คือการใช้เหตุผลโดยมีสติรู้ตัว คือกระแสของคำและภาพที่เราระลึกรู้อย่างเต็มที่ ส่วนช้างคืออีกร้อยละ 99 ของกระบวนการทางจิตใจ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการระลึกรู้ตัว และควาญ (เหตุผล) มักต้องทำตามความต้องการของช้าง (ปัญญาญาณ, สัญชาตญาณ, ความรู้สึก) เสมอ
มาร่วมกันค้นหาว่า จริงหรือเปล่าที่การใช้เหตุผลของเรา ที่เราเชื่อว่ามันเป็นไปเพื่อค้นหาความจริงแท้ จริงๆ แล้วมันเป็นเเพียงทักษะที่มนุษย์วิวัฒน์มาเพื่อสนับสนุนวาระทางสังคม สร้างความชอบธรรมต่อการกระทำของตัวเราเอง และเพื่อปกป้องทีมหรือกลุ่มที่เราสังกัดอยู่
และจริงหรือที่ ‘เหตุผล’ ถูกการประกอบสร้างขึ้นภายหลังจากที่เราได้ตัดสินไปแล้ว และมันถูกประดิดประดอยมาเพื่อให้เราบรรลุถึงจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่งอย่างมีกลยุทธ์ และนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมฝ่ายตรงข้ามถึงดูโง่งม มีอคติ และไร้เหตุผลเสียเหลือเกิน ราวกับอยู่กันคนละโลกอย่างนั้น
ความต่างของรากฐานทางศีลธรรม
……….
The Righteous Mind หรือใจที่ถือดี เปรียบเหมือนลิ้นที่มีหกปุ่มรับรส ศีลธรรมของโลกฆราวาสตะวันตกเป็นเหมือนอาหารที่พยายามกระตุ้นปุ่มรับรสเพียงแค่หนึ่งหรือสองปุ่มเท่านั้น คือถ้าไม่ใส่ใจเรื่องความเสียหายและความทุกข์ ก็ต้องไปใส่ใจเรื่องความเป็นธรรมและความอยุติธรรม
แต่ผู้คนทั่วโลกมีปัญญาญาณศีลธรรมอันทรงพลังอีกมากมายกว่านั้น และมีมากถึง 6 แบบ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรากฐานศีลธรรมในใจที่เรายึดถือ นั่นคือ
1.รากฐานการดูแล/ความเสียหาย
2.ความเป็นธรรม/การคดโกง
3.ความภักดี/การทรยศ
4.อำนาจ/การล้มล้าง
5.ความศักดิ์สิทธิ์/ความเสื่อมทราม
6.เสรีภาพ/การกดขี่
แต่ละรากฐานคืออะไร ทำไมเราจึงมีไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน และยังแตกต่างกันมากเหลือเกินเมื่อเทียบระหว่างพวก ‘อนุรักษนิยม’ กับ ‘เสรีนิยม’
ผู้เขียนจะอธิบายถึงที่มาของปุ่มรับรสทั้งหกรสชาตินี้ว่ามาจากไหน มันสร้างพื้นฐานในการปรุงศีลธรรมอันหลากหลายของคนทั้งโลกได้อย่างไร และทำไมพวกนักการเมืองฝ่ายขวาจึงมีความได้เปรียบเมื่อต้องหาเสียงเลือกตั้ง
ศีลธรรมผูกมัดและมืดบอด
……….
เรารู้กันมาว่ามนุษย์นั้นถูกสร้างมาโดยการคัดเลือกโดยธรรมชาติในระดับปัจเจก ผู้ที่เข้มแข็งได้อยู่รอด ผู้ที่อ่อนแอกว่าก็ต้องถูกกลืนหายไป แต่ไฮดต์กลับบอกว่า วิวัฒนาการของมนุษย์ทำงานในสองระดับพร้อมๆ กัน
ระดับแรกคือ ระดับปัจเจกแข่งขันกับปัจเจกภายในกลุ่มด้วยกันเอง และเราคือลูกหลานของไพรเมตผู้กำชัยในการแข่งขันนั้นมา ทำให้เราเป็นพวกเห็นแก่ตัว สุดแสนเชี่ยวชาญในการแสดงออกถึงคุณงามความดีที่หลอกได้แม้กระทั่งตัวเราเอง (Selfish Gene)
และระดับที่สอง ธรรมชาติของมนุษย์ยังถูกกำหนดโดยการแข่งขันระหว่างกลุ่มเรากับกลุ่มอื่นด้วย ดังที่ดาร์วินกล่าวไว้นานแล้วว่า กลุ่มที่เหนียวแน่นและร่วมมือกันดีที่สุด จะมีชัยเหนือกลุ่มของพวกปัจเจกที่เห็นแก่ตัว มนุษย์จึงวิวัฒนาการยีนเห็นแก่กลุ่ม (Groupish Gene) ขึ้นมาควบคู่กันไปด้วย
มนุษย์เราจึงไม่ได้เป็นชิมแปนซีเสียทั้งหมด เราเป็นเพียงร้อยละ 90 และเป็นผึ้งที่ทำเพื่อรวงรังอีกร้อยละ 10
ภายใต้สถานการณ์พิเศษ มนุษย์เราสามารถตัดผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วทำตัวเหมือนเป็นเซลล์ในร่างกาย หรือเป็นผึ้งงานในรวงรัง ทำงานเพื่อประโยชน์ของกลุ่ม ประสบการณ์นี้มักจะเป็นช่วงที่ดีงามที่สุดในชีวิตของเรา เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การสร้างวีรกรรมอันงดงาม ทว่าความเห็นแก่รวงรังของเราก็จะทำให้เรามืดบอดต่อศีลธรรมอื่นๆ ด้วย จนทำให้กลุ่มต่างๆ ต้องทำร้าย ทำลาย และก่อสงครามกันอย่างไม่สิ้นสุด
โจนาธาน ไฮดต์
……….
เป็นนักจิตวิทยาสังคมชื่อดัง แห่งวิทยาลัยธุรกิจสเติร์น มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เขาจบปริญญาเอกจาก มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย ในปี ค.ศ. 1992 และเคยสอนที่ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย นานถึง 16 ปี
ผลงานวิจัยของไฮดต์มุ่งตรวจสอบรากฐานโดยปัญญาญาณของศีลธรรม และดูว่าศีลธรรมผันแปรไปอย่างไรในวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงวัฒนธรรมของกลุ่มการเมืองในสหรัฐอเมริกา ทั้งหัวก้าวหน้า อนุรักษนิยม และอิสรนิยม
ไฮดต์เป็นผู้เขียนหนังสือสามเล่ม
– The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom
– The Righteous Mind: Why Good People are Divided by Politics and Religion; และ
– The Coddling of the American Mind: How Good Intentions and Bad Ideas are Setting Up a Generation for Failure (ร่วมกับ Greg Lukianoff)
โดยสองเล่มหลังเป็นเบสเซลเลอร์ของนิวยอร์ก ไทม์ส
ณ วิทยาลัยธุรกิจสเติร์น มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เขานำจิตวิทยาศีลธรรมมาประยุกต์ใช้กับจริยธรรมทางธุรกิจ โดยตั้งคำถามว่าองค์กรธุรกิจจะสามารถจัดโครงสร้างและดำเนินงานด้วยตัวมันเอง ไปในทางที่จะต้านทานความล้มเหลวทางจริยธรรมได้อย่างไร นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง HeterodoxAcademy.org ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของนักวิชาการเกือบ 2,500 คน ที่สร้างความหลากหลายของมุมมอง และเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัย
-
Product on saleความถูกต้องอยู่ข้างใคร
฿439฿373
แท็ก
Related Content
เมื่อโลกคาดหวังให้เราเป็นผู้ใหญ่ จนเข้าใจไปว่า ‘ปีเตอร์ แพน’ ผิดปกติ (Peter Pan Syndrome)
ทุกคนน่าจะรู้จัก ‘ปีเตอร์ แพน’ เด็กชายผู้มีมนต์พิเศษในก…
How to ใช้ชีวิตอย่างไรไม่ให้เสียใจภายหลัง
ในทุกๆ วัน ชีวิตมีเรื่องให้เราต้องตัดสินใจมากมาย บางเรื…
เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับความตาย
เพราะไม่รู้ว่าความตายจะนำไปสู่อะไร พวกเราเลยหวาดกลัวสิ่…