Biblio Open House เปิดใจบรรณาธิการ

Published : มิถุนายน 7, 2023 | Blog | Editor :

หนังสือมีพลังซ่อนอยู่ แต่ว่าแต่ละเล่มก็ทำงานกับแต่ละคนต่างกัน Biblio อยากมอบพลังแบบนั้นให้กับนักอ่าน เราจึงคัดสรรหนังสือที่ชอบและเชื่อว่านักอ่านจะชอบมาให้เสมอ นับตั้งแต่เล่มแรกของทั้งสามสำนักพิมพ์

ตัวตนของสำนักพิมพ์สะท้อนออกมาในหนังสือแต่ละเล่ม ในทุกขั้นตอนเราลงทั้งเรี่ยวแรงและหัวใจ กว่าจะมาเป็นรูปเล่มในมือนักอ่านทางกองบรรณาธิการทำงานกันอย่างหนัก และเราก็คิดว่านักอ่านคงสัมผัสถึงสิ่งนั้นได้เป็นอย่างดี

Biblio Open House เลยพาบรรณาธิการบริหารมานั่งจับเข่าคุยถึงการเลือกต้นฉบับให้นักอ่านฟังกันว่าเรามีแนวคิดแบบไหน อย่างไร ในการคัดสรรหนังสือที่จะคว้าใจคนอ่านให้อยู่กับเราได้ไปนานๆ

ปีหน้าและปีต่อๆ ไป Biblio ก็ขอฝากตัวไว้ด้วยนะคะ

ปล่อยไลน์อัพแรกให้เห็นทิศทางและคว้าใจ

จริงๆ เป็นการคว้าใจคนอ่านเลยได้ไหม เราคงไม่มั่นใจที่จะบอกแบบนั้น แต่สิ่งที่บอกได้ก็คือพวกเราพยายามที่จะนำเสนอหนังสือที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกของผู้คนในเวลานั้น พยายามทำหนังสือที่ตอบโจทย์เล็กๆ ในชีวิตของคนอ่านได้ หนังสือที่เราทำอยากให้สัมพันธ์ไปกับการรับรู้และการเติบโตของคนอ่านในช่วงเวลาหนึ่ง เหมือนที่ในอดีตเราเคยเติบโตไปกับหนังสือบางเล่มมาแล้ว แม้นำกลับมาอ่านในตอนนี้อาจไม่รู้สึกเหมือนเดิมก็ตาม แต่ทุกคนย่อมมีหนังสือสักเล่มที่ทำให้เราก้าวผ่านอะไรบางอย่างในชีวิตมาได้ และหวังว่าหนังสือที่พวกเราทำสักเล่มจะเป็นหนึ่งในนั้นได้บ้าง

Biblio ก้าวออกมาในช่วงวิกฤตของโรคระบาด แต่ประสบการณ์บอกว่าเรา (ต้อง) ทำได้

เราค่อนข้างระมัดระวังอยู่พอสมควรในการออกหนังสือ ประสบการณ์และเซนส์ก็มีส่วนช่วยได้บ้าง แต่เอาเข้าจริงในสถานการณ์ใหม่ๆ ของโลกอย่างโควิด-19 ก็ได้เข้ามาทำลายแนวทางเดิมๆ ในการทำหนังสืออยู่เหมือนกัน เช่น เมื่อคนอ่านปรับตัวเข้ากับการซื้อของทางออนไลน์ในสถานการณ์ที่ต้องล็อกดาวน์ได้แล้ว รวมทั้งงานอีเวนต์ถูกเลื่อนออกไปไกล วงจรของการทำหนังสือก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องผลิตหนังสือที่เป็นไฮไลต์ในช่วงงานหนังสือเหมือนเมื่อก่อน เพราะทุกเดือนต่างก็เป็นไฮไลต์ในตัวเองอยู่แล้ว คนอ่านคุ้นเคยกับโปรโมชัน 8.8, 9.9, 10.10 มามากพอที่จะซื้อหนังสือได้ทุกเมื่อ การคำนึงถึงบริบทและสภาวะทางสังคม รวมทั้งเทรนด์ระยะสั้นที่เข้ามาในช่วงนั้น กลายเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดไปพร้อมกับการวางแผนผลิตหนังสืออย่างมีนัยสำคัญ เพราะเราก็ต้องปล่อยหนังสือในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดด้วย

การคัดสรรที่หลากหลายตามสไตล์บรรณาธิการ

แต่ก่อนตอนเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ๆ การคัดเลือกต้นฉบับจะมีแค่ผม กับคุณบิ้ก (วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Biblio) เป็นคนเลือก เพราะเรามีกองบรรณาธิการกันแค่นี้ (ฮ่าๆ) แต่เมื่อเราสร้างทีมขึ้นมาได้ เรามีบรรณาธิการเก่งๆ อีกสามคนมาร่วมทีม (คุณผานิต ธนะสุข, คุณลดาวัลย์ นงลักษณ์ และคุณพัทธมน วงศ์นาค) การคัดเลือกต้นฉบับจึงเข้มข้นและสนุกสนานขึ้น เพราะแต่ละคนก็มีหนังสือที่ตนเองสนใจมานำเสนออยู่ตลอดในแต่ละสัปดาห์ และพวกเราก็จะรีวิวกันถึงความน่าสนใจของหนังสือเล่มนั้นก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกอีกครั้ง ซึ่งทำให้หนังสือของ Biblio ในระยะหลังก็จะมีความหลากหลายและกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น ส่วนแนวทางในการคัดเลือกต้นฉบับก็คงไม่ต่างไปจากสำนักพิมพ์อื่นๆ ตรงที่เลือกหนังสือที่น่าสนใจเป็นหลัก แต่ที่อาจเพิ่มเติมคือพวกเราพยายามเลือกหนังสือที่มีคาแรคเตอร์ของตัวเอง มีอะไรบางอย่างในเล่มที่น่าค้นหา แม้จะไม่ใช่หนังสือเล่มดัง ไม่ใช่หนังสือขายดีมากมายนัก แต่หากเรื่องราวในนั้นมีพลังที่ดีในตัว เราก็เลือกที่จะหยิบมาทำและนำเสนอในรูปแบบของ Biblio

หนังสือชื่อดังและหนังสือที่ถูกค้นพบอย่างเงียบๆ

หนังสือเล่มดังหลายเล่มเราก็เคยได้ลองทำมาแล้วเหมือนกัน ซึ่งสร้างความคนอ่านก็พอใจในระดับหนึ่ง แต่อย่างที่บอกไปว่าเราชอบที่จะค้นหาหนังสือที่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงมาก หรืออาจจะเป็นที่รู้จักแล้วแต่ยังไม่แมสเท่าที่ควร เพราะหนังสือเหล่านี้มักจะมีอะไรเซอร์ไพรส์เราได้อยู่เสมอ รายละเอียดในเรื่องราวอาจลึกซึ้งกว่าเรื่องย่อที่เห็น พล็อตเรื่องเรียบง่ายแต่ซุกซ่อนนัยสำคัญให้ขบคิด และเหมือนกันว่าคนอ่านของ Biblio เองก็จะสนุกไปกับการรอว่าเราจะนำเสนอหนังสืออะไรออกมา ซึ่งก็เป็นความประหลาดใจที่ดีทั้งต่อคนอ่านและคนทำหนังสือ

ทำเรื่องที่ยากด้วยใจรัก

ข้อแรกความยากในการทำสำนักพิมพ์คือการทำให้บริษัทอยู่รอดในเชิงธุรกิจให้ได้ เนื่องจากการทำสำนักพิมพ์ก็มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ แฝงอยู่มากมายระหว่างกว่าจะได้หนังสือออกมาหนึ่งเล่ม การวางแผนงานและบริหาร cash flow จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเพลินกับการทำหนังสือไปโดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่าย วันหนึ่งเราอาจเป็นหนี้มากมายโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ข้อที่สองความยากอีกเรื่องคือการทำให้แบรนด์ ซึ่งก็คือตัวสำนักพิมพ์เองมีคาแรคเตอร์ที่คนอ่านจดจำได้ มีภาพลักษณ์ที่ทำให้คู่ค้าของเรา ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย หรือร้านหนังสือต่างๆ จำเราได้ว่าเราทำหนังสือในสไตล์ไหน สำหรับคนอ่านนั้นในยุคที่สำนักพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย การเป็นแฟนประจำที่คอยติดตามหนังสือของสำนักพิมพ์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสำนักพิมพ์นั้นๆ เองต้องผลิตงานอย่างต่อเนื่องมากพอ มีแนวทางและการทำหนังสือที่ชัดเจน คำนึงถึงตลาดของคนอ่าน สร้างคุณภาพในงานผลิตเพื่อให้คนอ่านจดจำและรอคอยหนังสือที่เราทำ ซึ่งจะสัมพันธ์กับคู่ค้าของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่จะสามารถจัดวางหนังสือของเราให้ถูกจุด หรือนำเสนอหนังสือของเราได้อย่างถูกต้องตรงตามกลุ่มคนอ่าน นอกจากสองข้อนี้แล้ว การทำสำนักพิมพ์นั้นตัวคนทำเองก็ต้องพัฒนาตนเองไปพร้อมกับการเติบโตของคนอ่านและการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย ไม่อย่างนั้นเราอาจกลายเป็นคนทำหนังสือที่ตกรุ่นโดยไม่รู้ตัวได้

คำแนะนำเล็กๆ ถ้าคุณฝันจะทำสำนักพิมพ์

ทุกวันนี้ก็มีสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่เกิดจากแรงใจของนักอ่านจนกลายเป็นสำนักพิมพ์ที่มีเสน่ห์ในตัวเองอยู่หลายสำนักพิมพ์เช่น ไจไจบุ๊คส์, Sunday Afternoon, Sandwich, P.S. ฯลฯ อันดับแรกที่ควรคำนึงถึงในการทำสำนักพิมพ์ก็คือตัวเราอยากจะอ่านหนังสือแบบไหน จุดเริ่มต้นที่ดีคือการรู้ว่าตัวเองอยากจะอ่านหนังสือแบบไหน แล้วในตลาดอาจจะยังไม่มีหนังสืออย่างที่เราต้องการจะอ่าน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คนอ่านหลายคนลุกขึ้นมาทำหนังสือที่ตนเองอยากจะอ่านขึ้นมา และคาดหวังได้ว่าจะมีคนอ่านชอบหนังสือที่เราทำด้วย

ลำดับต่อมาก็คำนึงถึงเงินทุนที่จะใช้ในการทำหนังสือ ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่ก็มาจากค่าพิมพ์หนังสือ หรือค่าลิขสิทธิ์นักเขียน (ในกรณีที่ซื้อหนังสือต่างประเทศมาทำก็จะมีค่าแปลเพิ่มขึ้นด้วย) และยังมีค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ส่วนอื่นอีก เช่น การจัดทำรูปเล่ม ปกหนังสือ พิสูจน์อักษร (หากเจ้าของสำนักพิมพ์มีความเชี่ยวชาญในด้านใดและลงมือทำด้วยตัวเองได้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง) ดังนั้นการเตรียมทุนไว้สำหรับการทำหนังสือบ้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตามสำคัญที่สุดก็คือเส้นทางในการทำสำนักพิมพ์เป็นอาชีพ ก็ไม่ได้หอมหวานไปทุกย่างก้าว เราอาจเจอกับปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ทดสอบเราเช่นกัน ดังนั้นการวางแผนที่ดี และการเชื่อมั่นในหนังสือที่ทำจึงสำคัญ หากเล่มแรกไม่เป็นไปตามที่คาด ก็ยังมีเล่มต่อไปให้แก้ตัวได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งท้อใจไปง่ายๆ นะครับ เราเชื่อว่าคนทำหนังสือ คนทำสำนักพิมพ์ทุกคนก็ผ่าน pain point กันมาทั้งนั้น (ซึ่งบางเรื่องก็ยังไม่ได้หายไป) แต่ความเชื่อในการทำหนังสือและความพยายามในการพัฒนาเนื้องานจะทำให้คนทำสำนักพิมพ์ทุกคนพบเจอพื้นที่ของตัวเองในที่สุดครับ

แท็ก


Related Content