มิลค์ – ณิชารีย์ ผาติทิต ไขความลับของการสังเกต

Published : ธันวาคม 2, 2022 | Blog | Editor :

“นุนชี่ไม่ได้เป็นการสอนตรงๆ ว่า เอาล่ะ วันนี้เราจะมีเรียนรู้เรื่องนุนชี่กัน แต่มันเหมือนเราเรียนรู้มารยาทบนโต๊ะอาหาร เราอาจจะโดนแม่บอกว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะ คนเกาหลีก็จะคล้ายๆ กันในแง่ที่ว่า สมมติ คุณเผลอไปเสียมารยาทใส่ผู้ใหญ่ แม่ก็จะพูดได้ว่า ‘ทำไมเราไม่มีนุนชี่เลย’ ซึ่งก็จะเป็นการเรียนรู้แบบนี้ซะมากกว่า”

จำกันได้ไหมตั้งแต่เรายังเด็กๆ ผู้ใหญ่ก็จะคอยตักเตือนว่าไม่ให้ทำอย่างนั้นหรือให้ทำอย่างนี้ บอกให้เราเป็นคนดีมีน้ำใจ หรืออะไรต่างๆ สิ่งเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าคำสอน แต่ในบางวัฒนธรรมก็มีปรัชญาหรือแนวคิดที่มีคอนเซ็ปต์ในตัวอย่างชัดเจน และก็ถูกปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ฝังแน่นอยู่ในวิถีชีวิต
สำหรับเกาหลีใต้เองก็มีแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เรียกว่า “นุนชี่” Be (ing) จึงชวน ‘มิลค์ – ณิชารีย์ ผาติทิต’ สาวคอลัมนิสต์ ก็อปปี้ไรเตอร์ และเป็นผู้แปลหนังสือ “นุนชี่ พลังแห่งการสังเกตชีวิต” มานั่งคุยเรื่องราวเกี่ยวกับนุนชี่ ว่าจริงๆ แล้วนุนชี่คืออะไร แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง แล้วทำไมคนเราจำเป็นจะต้องมีนุนชี่ด้วย
ศาสตร์จากเกาหลีใต้นี้จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นและอย่างมีความสุขในสังคมได้อย่างไร เราลองมาหาคำตอบและทำความรู้จักกับ “นุนชี่” ไปพร้อมกัน

นุนชี่ หนังสือที่สบตากันบนชั้น จนเดินทางมาสู่การแปล
“มิลค์เห็นเล่มนี้ครั้งแรกตอนที่หนังสือออกใหม่ๆ ช่วงนั้นก็อ่านหนังสือพวกวะบิซะบิอะไรแบบนี้ด้วย บวกกับเราสนใจวัฒนธรรมของเกาหลี แล้วก็ไปเจอเล่มนี้พอดี เราหยิบมาด้วยความสงสัยว่ามันคืออะไร จะเหมือนอิคิไกไหม แล้วพอดูไปดูมาก็คิดว่า ‘นุนชี่’ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในวัฒนธรรมเกาหลี แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเลย”
ไม่ใช่เล่มที่ถูกเลือก แต่เลือกได้ถูกเล่ม
“ตอนนั้นมิลค์มีโอกาสได้คุยกับพี่จี-จีระวุฒิ เขียวมณี (บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ Biblio) เราเลยเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ว่ามันเป็นยังไง น่าสนใจตรงไหน แล้วพี่จีเองก็เคยทำอิคิไกมาก่อน เราเห็นว่าหนังสือเป็นแนวคล้ายๆ กัน เลยลองเสนอดู ก็ปรากฎว่าทางสำนักพิมพ์ก็ให้ความสนใจ และเลือกเราเป็นนักแปลด้วย นี่เลยเป็นหนังสือเล่มแรกที่มิลค์ได้แปล”
“ก่อนหน้านี้เราก็ไม่รู้จักนุนชี่มาก่อน แต่หลังจากเริ่มแปลเวลาที่เราดูรายการหรือวาไรตี้ของเกาหลีเราก็เริ่มสังเกตว่ามันจะมีคำนี้ที่ชอบโผล่ขึ้นมา (ที่เวลาเราดูรายการญี่ปุ่นหรือเกาหลีมันจะชอบมาคำเป็นกราฟิกประกอบบนหน้าจอเยอะๆ) ซึ่งจะโผล่ขึ้นมาเวลาแขกรับเชิญหรือคนในรายการเงียบแล้วกำลังสังเกตว่าอีกฝั่งกำลังพูดหรือทำอะไร ก็จะมีคำหรือประโยคที่เกี่ยวกับ (눈치) เด้งขึ้นมา นั่นคือแก่นของมันเลย มันคือการสังเกตและดูสถานการณ์เพื่อที่เราจะได้วางตัวได้ถูก”
แนวคิดที่ปฏิบัติได้จริงและเข้าถึงง่าย
“ถ้าให้เทียบกับปรัชญาญี่ปุ่นที่เราคุ้นหูกัน นุนชี่ค่อนข้างแตกต่าง อย่างถ้าพูดถึงวะบิซะบิ คนก็จะนึกถึงคินสึงิ มีความเป็นปรัชญาหรือศิลปะกว่า แต่นุนชี่จะคล้ายๆอิคิไกมากกว่า ในแง่ว่ามันสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานหรือชีวิตจริงได้มากกว่า”

มากกว่าตามองและหูฟัง
“จริงๆ ก็รู้สึกว่า ‘นุนชี่’ อธิบายยาก เราก็คุยกับคนรู้จักที่เป็นชาวเกาหลี ทุกคนก็รู้สึกว่าอธิบายไม่ค่อยถูก นุนชี่มันเหมือนการสังเกต การรักษาความสมดุลของภาพรวม ไม่ว่าตรงนั้นมีคนแค่สองคน หรือมีคนอยู่เต็มห้อง เราคิดว่ามันคืออาร์ตของการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม”
“นุนชี่คือการใช้สัญชาตญาณบวกกับการฝึกสังเกตเพื่อจับอารมณ์ของห้องและฝ่ายตรงข้าม ที่ไม่ใช่แค่ฝ่ายตรงข้ามเป็น เพราะว่าบางทีสิ่งที่เกิดขึ้นคนๆ หนึ่งมันสามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของคนรอบๆ ได้ เช่น เวลามีคนทำตัวแย่คนนึงในคาเฟ่หรือในตู้รถไฟฟ้า บรรยากาศที่เหลือของคนอื่นก็พลอยแย่ไปด้วย นุนชี่ไม่ได้สอนให้เราต้องยอมไปหมดทุกอย่าง แต่มันสอนให้เราเซฟตัวเองและช่วยให้เราได้มาซึ่งจุดประสงค์ของเราโดยวิธีที่บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น”
“ที่จริงแล้วในหนังสือก็จะบอกว่านุนชี่คือการ ‘วัด’ ด้วยสายตา เป็นศิลปะการคาดเดาความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น เพื่อสร้างความกลมกลืน ‘ความกลมกลืน’ นี่เป็นเหมือนผลลัพธ์ที่เกิดจากนุนชี่ และในอีกแง่นึงก็เป็นแก่นของนุนชี่ด้วย”
คำว่า ‘กาลเทศะ’ ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
“ถ้าในบริบทของสังคมไทย เราคิดว่ามันก็คือการรู้กาลเทศะ เพราะว่าหัวใจหลักของนุนชี่คือการไม่ทำให้สิ่งรอบข้างหรือคนรอบเข้างเราอึดอัด และในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้ตัวเองดูแย่ในสายตาคนอื่น
กับอีกคำนึงที่เราอาจจะนึกถึงได้คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่นุนชี่จะไม่ใช่การเอาใจเขามาใส่ใจเราซะทีเดียว เพราะถ้าทำแบบนั้นความรู้สึกเราอาจจะเอนเอียงได้ การใช้นุนชี่ มันคือการให้เราเป็นเหมือนคนสังเกตการณ์ แล้วมองอย่างเป็นกลางว่าสถานกาณ์นี้มันเป็นแบบนี้นะ เราควรทำยังไง เราควรวางตัวยังไง”

เครื่องมือสำคัญในการเข้าสังคม
“คนเราไม่สามารถเลี่ยงการเข้าสังคมได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีนุนชี่ เราจะสามารถใช้นุนชี่เป็นเครื่องมือในการเข้าสังคมได้ ไม่ว่าจะตอนเรียน ตอนทำงาน หรือตอนใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว”
“นุนชี่ช่วยให้คนๆ นึงช่างสังเกตมากขึ้น และรับรู้ได้ไวต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์ มันช่วยให้เราเซฟตัวเอง ไม่ว่าจะในระดับเล็กๆ อย่างการช่วยให้เราไม่เผลอทำอะไรเปิ่นๆ ในสถานการณ์สำคัญ ช่วยให้เราไม่เผลอไปทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่ายโดยที่เราไม่รู้ตัว อันนี้คือส่วนที่ต่างจากการเห็นอกเห็นใจคนอื่น ถ้าเราเห็นใจคนอื่นมากจนยอมให้คนอื่นเอาเปรียบ (โดยที่อีกฝ่ายก็มีเจตนา) หรือแบบเอ็นดูเขาเอ็นเราขาด แบบนี้ไม่ใช่นุนชี่ละ นุนชี่คือการรู้ว่าตรงไหนควรผ่อน ตรงไหนควรแข็งกลับ จุดแข็งของนุนชี่คือการช่วยให้เรามีความละเอียดอ่อนในการสังเกตสิ่งรอบตัวได้ดีขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้เข้ากับคนอื่นได้อย่างราบรื่นขึ้นโดยที่เรายังสามารถรักษาจุดยืนของเราได้อยู่”
“ส่วนจุดด้อยของนุนชี่ เราว่าเพราะมันเป็นคอนเซปต์ที่มีไว้เพื่อรักษาความกลมกลืน มันทำให้บางทีเราต้องยอมฝืนบางอย่างเพื่อให้เข้ากับสังคมที่เราอยู่ด้วยในตอนนั้น และต้องคอยระวังตัวเองด้วยว่า เอ๊ะ อันนี้เราใช้นุนชี่ หรือว่าเรากำลังไม่จริงใจกับตัวเองอยู่ อันนี้เราว่าข้อเสียของนุนชี่มันแล้วแต่บริบทสังคม ยกตัวอย่างง่ายๆ คือในเกาหลี เพราะที่ไทยเรื่องนี้มันอาจจะไม่ได้เข้มข้นเท่า ที่นั่นวัฒนธรรมการทำงานของเขาจะแบ่งลำดับขั้นชัดเจนมาก เช่นกลางวันต้องไปกินข้าวกับทั้งทีม และถ้าไปกับหัวหน้าแล้วหัวหน้าสั่งอาหารราคา 100 บาท เราต้องไม่สั่งอาหารที่แพงกว่านั้น มันคือกฏสังคมที่เขาจะรู้กัน คนที่มีนุนชี่ก็จะสั่งเหมือนหัวหน้าหรือถูกกว่า แต่คนที่ไม่มีนุนชี่ก็อาจจะสั่งที่ตัวเองอยากกิน และก็จะโดนมองแรงหรือโดนหมั่นไส้ไปเลย โดยเฉพาะถ้ามีหัวหน้าเป็นมนุษย์ลุงแบบที่เรียกว่า 꼰대 (กนเด/กนแด) อยู่ในทีม”

นุนชี่ เป็นทั้งไหวพริบ และการอ่านระหว่างบรรทัด
“นุนชี่มันคือไหวพริบด้วย ยกตัวอย่างใกล้ๆ ตัวอย่างเรื่องที่ทำงาน สมมติว่าวันหนึ่งหัวหน้าเดินมาสั่งงานเรา 1 2 3 4 มีอะไรบ้าง แต่อาจจะมีบางจุดที่ไม่เคลียร์ สำหรับคนที่มีนุนชี่ เขาจะหาทางออกที่ดีได้มากกว่า หรือสังเกตเห็นได้ว่างานที่หัวหน้าสั่งมาไม่ได้แจ้งวันกำหนดส่ง แต่ในการทำงานเรารู้ว่างานชิ้นนี้เขาจะต้องส่งก่อนสิ้นเดือน เราก็จะทำให้ทันก่อนกำหนด สิ่งเหล่านี้มันคือการสังเกตเล็กๆ น้อยๆ หรืออย่างวันรวมญาติ ประเด็นที่เห็นกันบ่อยๆ ว่าผู้ใหญ่ชอบทักลูกหลานแบบนั้นแบบนี้ ถ้าตัวผู้ใหญ่เองมีนุนชี่ เขาก็จะเห็นแล้วว่าหลานหน้าเสียไป บรรยากาศสำหรับเด็กก็กร่อยลง หรือเขาก็คงไม่ถามคำถามที่ไม่ควรออกมาตั้งแต่แรก”
“อีกอย่างมันคือการอ่านระหว่างบรรทัดให้ออก ไม่ว่าในสถานการณ์แบบไหน ในชีวิตจริงที่เจอหน้ากันหรือผ่านการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต เพราะบางทีโลกโซเชียลก็ทำให้คนไม่มีนุนชี่ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างที่เราเห็นกันตามเพจที่มีคนมาคอนเมนต์เยอะๆ เขาก็จะคอนเมนต์ไปโดยไม่ได้คิดว่าจะส่งผลกระทบอะไรกับเราหรือคนที่เข้ามาอ่านไหม หรือแม้แต่เวลาที่เราอ่านอีเมล เราก็จะจับสังเกตได้ว่า คนที่เราสื่อสารด้วยไม่พอใจอยู่นะ”
“เราว่านุนชี่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบตัวดีขึ้นได้จริงนะ ไม่ใช่แค่กับเพื่อนร่วมงานแต่กับคนใกล้ตัวด้วย เพราะบางทีก็ต้องยอมรับว่าบางคนพอยิ่งสนิท เราก็ยิ่งเผลอมองข้ามความรู้สึกคนใกล้ตัวเราไป ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือแฟน บางทีเราชินกับความสัมพันธ์นั้นจนเราลืมสังเกตว่าเราปล่อยปละละเลยความรู้สึกของเขาไปไหม เราว่าในระยะยาวแล้วมันช่วยให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น เพราะเราจะกลายเป็นคนช่างสังเกตมากขึ้น และมีสติมากขึ้นด้วย แล้วพอยิ่งใช้มันก็จะยิ่งเป็นไปอย่างธรรมชาติมากขึ้นจนกลายเป็นเหมือนเซ้นส์ (แต่ก็ต้องระวังไม่เชื่อแค่เซ้นส์ตัวเองจนไปเผลอตัดสินคนอื่นหรือลืมสังเกตอะไรไป) อีกอย่างนุนชี่จะช่วยให้เรารู้ว่าอะไรควรไม่ควรทำ ซึ่งเราว่าสำคัญ ยิ่งเป็นยุคที่อะไรสามารถเกิดขึ้นและข่าวไปได้เร็วมากในโซเชียล”

การใช้ชีวิตก็เป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง จงสนุกไปกับการอยู่ร่วมกัน
“หนังสือเล่มนี้น่าสนใจตรงที่ ‘ยูนี ฮง’ คนเขียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ชีวิตส่วนใหญ่ของเขาก็อยู่ใน วัฒนธรรมตะวันตก กว่าจะย้ายกลับไปอยู่ที่เกาหลีใต้ก็ตอนอายุ 12 ขวบ และหลังจากนั้นก็กลับมาใช้ชีวิตที่อเมริกาต่อ ฮงเรียนรู้การใช้นุนชี่ในช่วงนั้นเอง แต่มิลค์รู้สึกว่าโดยพื้นฐานแล้วผู้เขียนก็เป็นคนเกาหลี-อเมริกัน มันจึงน่าสนใจตรงที่ เธอก็เหมือนคนนอกที่สังเกตการณ์เข้าไปในวัฒนธรรมเกาหลีที่เป็นรากเหง้าของตัวเอง”
“อีกอย่างที่มันสนุก เพราะมันใกล้เคียงกับสังคมไทยในบางแง่มุม ทำให้คนอ่านน่าจะเทียบเคียงได้ว่าอันนี้เอาไปปรับใช้ในชีวิตได้นะ มิลค์ว่ามันเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกับคนที่ต้องทำงาน ต้องเข้าสังคม ต้องพบเจอคนมากหน้าหลายตา ยิ่งในช่วงที่ทุกคนต้องทำงานอยู่บ้าน หรือในช่วงที่ทุกคนเครียดกับสถานการณ์รอบตัว ถ้าเราได้อ่านเล่มนี้แล้วนำนนุชี่ไปปรับใช้ มันก็จะช่วยให้ไม่มีอะไรมากระทบใจเราได้ง่ายๆ หรือเราเองก็ไม่ไปสร้างความอึดอัดให้กับคนอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจเหมือนกัน”
“ยิ่งสำหรับนักอ่าน Be (ing) ที่เคยอ่าน Emotional Agility เล่มนี้เป็นอีกเล่มที่ช่วยส่งเสริมกันได้ดี มันอาจไม่ได้ขนาดที่ว่าชีวิตเปลี่ยนด้วยการจัดบ้าน เพราะว่าด้วยแนวคิดมันค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่ขณะเดียวกันมันก็สามารถนำมาปรับใช้ได้จริง คิดว่าเล่มนี้จะทำให้นักอ่านสังเกตอะไรรอบตัวมากขึ้น หรือต่อให้รู้สึกว่าการเข้าสังคมเป็นอะไรที่เราไม่ชอบเลย มันก็อาจจะง่ายขึ้นเมื่อเรารู้ว่านุนชี่คืออะไร”
นักอ่านท่านไหนที่อยากจะเข้าในนุนชี่มากขึ้น สามารถสั่งซื้อหนังสือ “นุนชี่ พลังแห่งการสังเกตชีวิต” ไปอ่านกันเพิ่มเติมได้ ส่วนใครที่อยากติดตามผลงานด้านอื่นของคุณมิลค์ ไปติดตามกันได้ที่ milkcarton.official

แท็ก


Related Content