ส่องเทรนด์โลก 2030 ปรับตัวก่อนโลกเปลี่ยน

Published : มิถุนายน 8, 2023 | Blog | Editor :

ไม่ใช่แค่เพราะโควิด-19 โลกถึงเกิดความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่ไม่เหมือนเดิม เพราะความจริงเรากำลังเดินหน้าไปยังอนาคตที่ไม่มีใครเคยเห็นอยู่แล้ว การเข้ามาของโรคระบาดทำให้ทุกอย่างเดินหน้าเร็วขึ้น และสิ่งที่ เมาโร เอฟ. กิลเยน คาดการณ์ไว้ก็ดูจะใกล้เข้ามาทุกที

หนังสือเล่มนี้จะนำเสนอแนวทางที่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจนัยสำคัญของสถานการณ์อันซับซ้อนที่มีตัวแปรมากมาย และยังสื่อสารเรื่องอนาคตในแง่ดี

ในอนาคตแค่เร็วอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ถ้าเรารู้ก่อนย่อมได้เปรียบกว่า และมีโอกาสในการอยู่รอดและเติบโตมากกว่า

แนวโน้มทั้งหมดแบบเจาะลึกรอคุณอยู่ในเล่ม ถ้าไม่อยากตกเทรนด์และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ คุณต้องอ่านเล่มนี้!

เมื่อถึงปี 2030 เราจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนทารก จนในบางประเทศประชากรจะลดจำนวนลง ภูมิภาคที่จะมีประชากรเยอะที่สุดกลายมาเป็นเอเชียใต้ รวมถึงอินเดีย ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหานี้คือการอพยพย้ายถิ่นฐาน เพราะเป็นการจัดสรรคนจากบริเวณบนโลกที่มีเด็กส่วนเกินไปยังประเทศอื่นๆ ที่ขาดแคลนเด็ก

คนมีลูกน้อยลงมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเพราะผู้หญิงทำงานมากขึ้น คนให้ความสนใจเซ็กซ์น้อยลง ค่าแรงที่ได้รับ การสนับสนุนจากรัฐ และอื่นๆ

และอีกหนึ่งภูมิภาคที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็คือแอฟริกา หลายคนมองว่าที่นี่ไม่ได้น่าสนใจ แต่ถ้าดูกันจริงๆ ทวีปแอฟริกากำลังเป็นเหมืองทองที่กำลังก่อร่างสร้างตัว มีการเติบโตด้านเทคโนโลยี และจะนำไปสู่ซิลิคอนสะวันนา

นอกจากขาดแคลนทารก สิ่งที่ตามมาคือประชากรอายุมากกว่าหกสิบปีเพิ่มขึ้น ตลาดสูงวัยขยายตัว ธุรกิจต่างๆ ต้องมองหาผลิตภัณฑ์มารองรับความต้องการ บางคนอาจมองว่าอนาคตที่มีหุ่นยนต์คอยดูแลพลเมืองสูงวัยและเด็กๆ เป็นเรื่องผิดปกติ แต่ถ้าจะพูดตรงๆ ก็คือเราไม่มีทางเลือกอื่นด้วยสองเหตุผล นั่นคือทุกวันนี้ไม่ได้มีเด็กเกิดขึ้นใหม่มากพอจะทำงานดูแลตามที่จำเป็นในอนาคต

นอกจากนี้ราคาหุ้นยังสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย ธุรกิจการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยจะเป็นกองทุนสำคัญเมื่อคนเราอายุมากขึ้น

ชาวมิลเลนเนียนในวันนี้จะอยู่ดีมีสุขเมื่อถึงวัยเกษียณ แต่ข่าวร้ายก็คือชาวมิลเลนเนียนอีกจำนวนพอๆ กันจะประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก!

ปัจจุบันชนชั้นกลางชาวอเมริกันและยุโรปยังคงเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของพวกเขานั้นซบเซาและสถานะก็กำลังเสื่อมถอย แต่เมื่อถึงปี 2030 จีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) จะครอบครองอำนาจในการจับจ่ายของผู้บริโภคในโลกเกินครึ่งหนึ่ง

การเติบโตขึ้นของชนชั้นกลางทำให้คนยากไร้ทั่วโลกลดลง แต่ก็ยังมีคำถามที่น่าเป็นห่วงว่าแล้วเราจะจัดการเรื่องทรัพยากรอย่างไร? และสืบเนื่องจากการขาดแคลนทารก ปัจจัยในการมีลูกจะทำให้คุณข้ึนไปสู่ชนชั้นกลางได้ยากขึ้น นี่คือเหตุผลที่คนไม่มีลูก หรือมีลูกกันช้าลง

สำหรับผู้หญิง สัดส่วนความมั่งคั่งจะเพิ่มขึ้นโดยรวมของโลกกินกว่าครึ่ง แนวโน้มนี้สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ใช่แค่ด้านสังคม แต่รวมถึงตลาดหุ้นด้วย เพราะผู้หญิงแตกต่างจากผู้ชายในการลงทุน หรือแม้แต่ด้านบริษัทหรือนวัตกรรม

เมื่อปี 2030 ใกล้เข้ามาจะมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารมากขึ้น ถึงแม้จะยังเป็นส่วนน้อยก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าความแตกต่างเรื่องค่าแรงระหว่างเพศจะไม่หายไป ปัจจุบันพวกเธอต้องเผชิญหน้ากับความต่างของค่าแรงมากกว่า 30% แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังพบความต่างอยู่ 20% เป็นอย่างน้อย

ความเท่าเทียมทางเพศแบบอุดมคติจะยังมีอยู่ในอนาคต แต่ช่องว่างนั้นจะลดลงจากปัจจุบันอย่างแน่นอน

เมื่ออุตสาหกรรมเติบโต เมืองจะเป็นเครื่องจักรมโหฬารที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง แนวโน้มต่างๆ บ่งบอกว่าการขยายพื้นที่เมืองกำลังเพิ่มขึ้น ในแต่ละสัปดาห์ประชากรเมืองทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน นั้นหมายความว่ามีการสร้างมลพิษและปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากตาม

เราจะเผชิญวิกฤตทางสังคมและภูมิอากาศอย่างรุนแรง หากจะแก้ไขปัญหาความยากจนในเมืองกับภาวะโลกร้อนจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

“อุณหภูมิที่ร้อนนำไปสู่อัตราการตายที่เพิ่มมากขึ้น การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล การใช้พลังงาน และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งยิ่งแย่ลงไปอีกเพราะ [ปรากฎการณ์] เกาะความร้อนของเมือง”

แล้วเมืองใหญเหล่านี้ก็จะจมน้พ เพราะเมืองส่วนใหญ่ในโลกมักอยู่ติดทะเล

ทั้งหมดนี้ยังส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อวัฏจักรของน้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้ ฤดูแล้งและฤดูน้ำหลากจะยาวนาน ทำให้เกิดปัญหาสาธารณสุขใหม่ที่สำคัญ

“ในชุมชนจำนวนมากทั่วแอฟริกา ผู้คนมีโทรศัพท์มือถือไว้ใช้พูดคุย แต่พวกเขาไม่มีไฟหรือน้ำปะปาใช้ ยิ่งส้วมชักโครกยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย และพวกเขายังอาจจะอดอยากด้วย”

ในแอฟริกาตอนใต้ของสะฮาราการสื่อสารผ่านมือถือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขาใช้มือถือเป็นอุปกรณ์สำหรับชำระและรับเงิน หลายคนแทบไม่ได้ใช้เงินสดเลยด้วยซ้ำ

สิ่งที่ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นในส่วนนี้ก็คือการเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งมีทั้งด้านที่ดีและด้านที่แย่ เพราะมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร ในขณะที่มันก็อำนวยความสะดวกให้กับชีวิตด้วย

ปี 2030 เกือบครึ่งหนึ่งของการจับจ่ายของเราจะอยู่ในรูปแบบของการบริโภค “ร่วมกัน” หรือ “แบ่งกัน” ซึ่งได้แก่ การใช้รถยนต์ บ้าน สำนักงาน อุปกรณ์ และของส่วนตัวทุกชนิด การเป็นเจ้าของล้าสมัยแล้ว และการแบ่งปันกันกำลังมา

บางคนอาจประหลาดใจเมื่อได้ยินว่าชาวมิลเลนเนียนไม่ใช่แต่ลังเลที่จะมีรถยนต์ แต่ยังลังเลแม้แต่การมีใบขับขี่ เพราะมีแพลตฟอร์มอย่างแกรบหรืออูเบอร์คอยให้บริการอยู่แล้ว เศรษฐกิจแบบแบ่งปันทำให้เกิดการบริโภคอย่างมาก เราสะดวกสบาย และมีรายจ่ายที่ถูกลง เช่น การเข้าพักในแอร์บีเอ็นบี หรือเปิดบริษัทในโคเวิร์คกิ้งสเปซ

แต่! ในทางเดียวกันเศรษฐกิจแบบนี้ก็เป็นความพยายามที่จะลดค่าแรงแบบเต็มเวลาของบริษัทด้วย นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษคิดค้นคำว่า “precariat” เป็นการผสมระหว่างคำว่า ‘precarious ไม่มั่นคง’ กับคำว่า ‘proletariat ชนชั้นกรรมกร’ เพื่อสื่อถึงคนทำงานชนชั้นนี้

และยังมีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเสรีแบบนี้ด้ว นั่นคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า การมีสินทรัพย์ให้เช่าเป็นสิทธิ์ของคนที่มีเงินมากพอจะมีทรัพย์สินแต่แรก “การจะทำเงินได้ต้องใช้เงินด้วย”

ส่วนเรื่องเงินในปี 2030 เราจะมีสกุลเงินมากกว่าประเทศเสียอีก “สิ่งที่ทำให้สกุลเงินคริปโตเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงก็คือ พวกมันไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลกลางมาค่อยออกธนบัตรใช้หมุนเวียนให้แพร่หลาย ทั้งหมดที่จำเป็นต้องมีคือเครือข่ายคอมพิวเตอร์”

การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนก็จะแพร่หลายยิ่งขึ้น เพราะมีความปลอดภัยสูง มีการบันทึก และติดตามได้อย่างเป็นระบบ

บล็อกเชนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวและความตื่นเต้น และเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะเปลี่ยนโลกปี 2030

ขอทิ้งท้ายไว้ด้วยเคล็ดลับ 3 ข้อจาก 7 ข้อ สำหรับการอยู่รอดที่ผู้เขียนฝากไว้
หนึ่ง กล้าออกจากฝั่ง
สอง กระจายความเสี่ยงอย่างมีเป้าหมาย
สาม อยากประสบความสำเร็จต้องเริ่มต้ยจากสิ่งเล็กๆ

และมาอ่านทั้งหมดนี้อย่างเจาะลึกได้เพิ่มเติมในเล่ม

แท็ก


Related Content