Editors’ Picks อย่าสูญสิ้นความหวัง เพราะชีวิตยังมีความหมาย
Published : ธันวาคม 2, 2022 | Blog | Editor :
Editors’ Pick บรรณาธิการชวนอ่าน
เริ่มต้นปีใหม่ด้วยหนังสือแห่งความหวังที่ให้พลังใจแก่ผู้คนมาตั้งแต่กลางยุค 1940 อย่าง “Yes to life: In Spite of Everything” หรือ “อย่าสูญสิ้นความหวัง เพราะชีวิตยังมีความหมาย” โดย Viktor E. Frankl
ผู้เขียนเป็นจิตแพทย์ชาวออสเตรียผู้ถูกจับไปกักขังไว้ที่ค่ายกักกันนาซีอันโหดร้ายในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แม้จะถูกกระทำย่ำยีทั้งร่างกายและจิตใจจนแทบเอาตัวไม่รอด แต่เขากลับรอดชีวิตมาได้พร้อมกับหัวใจที่ยังเปี่ยมด้วยความหวัง และยังยึดมั่นในคุณค่าและความหมายของความเป็นมนุษย์
“คุณค่า” และ “ความหมาย” นี้เอง ที่เป็นเสมือนเข็มทิศนำทางให้คนเรายังคงยืนหยัดที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีจุดหมาย
Viktor E. Frankl คือผู้คิดค้นทฤษฎีทางจิตบำบัด “Logotherapy” ซึ่งมีแนวคิดว่า ความหมายของชีวิตคือแรงจูงใจที่จะทำให้ผู้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของผลงานอมตะและทรงคุณค่าอย่าง Man’s Search for Meaning ที่หลายคนอาจเคยผ่านตามาแล้ว
เนื่องจากบริบทของสังคมโลกในขณะที่หนังสือเล่มนี้ถือกำเนิดคือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์สังหารล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยพรรคนาซีได้ก่อให้เกิดบาดแผลขนาดใหญ่ในใจของผู้คนไปทั่วยุโรป ผลกระทบจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้นทำให้คนจำนวนมากเกิดวิกฤตศรัทธาต่อคุณค่าและความหมายของการเป็นมนุษย์ ทั้งกังขาในการดำรงอยู่ของตนและการใช้ชีวิตต่อไป
ช่วงเวลานั้นเอง Frankl ได้ออกตระเวนแสดงปาฐกถา ปลุกปลอบหัวใจผู้คนให้กลับมาเชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และกระตุ้นให้แต่ละคนกลับมามีความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป การปาฐกถาเหล่านั้นได้ถูกเรียบเรียงมาเป็นหนังสือ “อย่าสูญสิ้นความหวัง เพราะชีวิตยังมีความหมาย” เล่มนี้
ความพยายามของเขามีส่วนช่วยชีวิตผู้สิ้นหวังในเวลานั้นเอาไว้มากมาย และยังคงส่งต่อคุณค่าเหล่านั้นมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อค่อยๆ อ่านไปทีละบทตอน แทบไม่น่าเชื่อว่าหลายๆ สิ่งที่เคยมีผู้กล่าวไว้เมื่อกว่า 70 ปีก่อนจะยังคงเป็นจริง และยังคงใช้ได้ในปัจจุบัน
หาก Man’s Search for Meaning เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์จากค่ายกักกันของ Frankl ที่สะท้อนให้เห็นความคิดเรื่องความหมายของชีวิต “อย่าสูญสิ้นความหวัง เพราะชีวิตยังมีความหมาย” ก็เป็นการกลั่นกรองและตกผลึกมันออกมาเป็นแนวคิดในเชิงวิชาการมากยิ่งขึ้น และถ่ายทอดออกมาในลักษณะการเรียนปรัชญาที่จะให้เราได้ฟัง แล้วค่อยๆ ขบคิด ได้ตั้งคำถามและตอบตัวเอง อาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจสักหน่อย แต่ไม่ได้ยากจนเกินไปเลย
เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับบรรยากาศอึมครึมซึมเซาของสังคมทั่วโลกในปัจจุบันนี้ ในบรรยากาศที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของโรคระบาดมานานกว่า 2 ปี และยังไม่ค่อยเห็นความหวังที่ชีวิตแบบเดิมๆ จะหวนกลับมา สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้จะทำให้เรารู้สึกเชื่อมั่นกับชีวิตมากขึ้น แม้ในสถานการณ์ที่ทำให้เราท้อแท้สิ้นหวังกับการใช้ชีวิตขนาดนี้ ตราบเท่าที่เรายังมีความหวัง ชีวิตจะยังมีความหมาย และเป็นของเราเสมอ

แท็ก
Related Content

Editors’ Picks ชื่อของเธอคือ…
Editors’ Picks แนะนำหนังสือที่อยากให้นักอ่านเป็นเจ้าของ…

Editors’ Picks 2030 อนาคตอันใกล้ไม่มีอะไรเหมือนเดิม
Editors’ Picks แนะนำหนังสือน่าอ่านเล่มใหม่จากหัวหน้ากอง…

Editors’ Picks คิดแบบเยอรมัน เขาทำกันยังไง
Editors’ Picks แนะนำหนังสือน่าอ่านเล่มใหม่จากหัวหน้ากอง…