Editors’ Picks ความถูกต้องอยู่ข้างใคร

Published : ธันวาคม 2, 2022 | Blog | Editor :

Editors’ Picks แนะนำหนังสือที่อยากให้นักอ่านเป็นเจ้าของจากกอง Biblio

หยิบ “ความถูกต้องอยู่ข้างใคร” โดย วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร บรรณาธิการสำนักพิมพ์

ในปัจจุบัน ถ้าเรามองไปทั่วๆ ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย สังคมต่างๆ ทั่วทั้งโลกมีความแตกแยกกันของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และความแตกแยกที่คนในสังคมเคยเก็บกดเอาไว้เหล่านั้นก็ดูเหมือนจะเริ่มแบ่งคนออกเป็นฝักฝ่ายที่มีความคิด ความเชื่อต่างกันอย่างชัดเจน ความเกลียดชังระหว่างฝ่ายเริ่มปะทุขึ้นมาอย่างไม่อ้อมค้อมและเข้าปะทะกันรุนแรงมากขึ้นทุกที ความแตกแยกที่เราพูดถึงอยู่นี้ ส่วนหนึ่งมีต้นเหตุมาจากความคิดและความเชื่อของคนสองกลุ่มที่ตรงข้ามกันอย่างแทบจะสิ้นเชิง ลิเบอร์รัลกับคอนเซอร์เวทีฟ, คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่, วัฒนธรรมเก่ากับเทรนด์ใหม่ จนเราต้องมานั่งถามว่า “ทำไมพวกเขาถึงคิดอย่างนั้นไปได้นะ”

หนังสือ “ความถูกต้องอยู่ข้างใคร” บอกเอาไว้ว่าที่คนเราแตกแยกกันอย่างนี้ หลักๆ ก็เกิดจากความเชื่อที่ต่างกันในเรื่องที่ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรเลว อะไรควร อะไรไม่ควร เมื่อความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ต่างกันมากเข้า ฝ่ายนี้ว่าอย่างนี้ดี อีกฝ่ายว่าอย่างนั้นดี เราก็เริ่มจะคุยกันไม่รู้เรื่อง และเมื่อคุยกันไม่รู้เรื่อง ต่างฝ่ายต่างก็รู้สึกว่าป่วยการที่จะคุยหรือทำความเข้าใจกันและกัน สุดท้ายก็ไม่มีใครคุยกันอีกต่อไป และเมื่อต้องตัดสินอะไรบางอย่างกันจริงๆ ก็มักจะไปลงเอยที่ความรุนแรงในท้ายที่สุด

วิธีการหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้บอกว่าเราอาจจะใช้ถอดสลักความรุนแรงในยุคที่ “ความไม่เข้าใจ” ของแต่ละฝ่ายเพิ่มมากขึ้นจนแต่ละฝ่ายแทบจะตะโกนออกมาว่า “ช่างมันก็แล้วกัน” แบบนี้ ก็คือเราจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความพยายามที่จะทำความเข้าใจฝ่ายตรงข้ามให้มากขึ้นไปอีกระดับ ลองศึกษาดูว่าอะไรที่ทำให้เขาคิดว่าอย่างนี้ถูก อย่างนั้นผิด คนนี้ดี ไอ้นั่นเลว ทำไมเขาจึงเชื่อแบบนั้นและทำไมเขาจึงเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองไม่ได้หรือไม่อยากเปลี่ยน

หนังสือ “ความถูกต้องอยู่ข้างใคร” เล่มนี้จะทำหน้าที่พาผู้อ่านไปค้นหาต้นตอ จุดเริ่มต้นของความคิดความเชื่อที่เขามีอยู่ ณ ตอนนี้ ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมเขาจึงปักใจเชื่ออย่างนั้น จากการอบรมสั่งสอน จากพันธุกรรม หรือเขาคิดมันขึ้นมาเอง มันมาจากไหนกันแน่ รวมถึงความคิดความเชื่อของตัวเราเองด้วยเช่นกัน

คำถามต่อมาก็คือ แล้วทำไมเราจึงต้องพยายามค้นหาด้วยว่าความคิด ความเชื่อ ของฝ่ายตรงข้ามมาจากไหน นั่นก็เพื่อให้เราตั้งหลักให้ดีเสียก่อนว่าความคิดและความเชื่อของเขามันผิดจริงๆ หรือว่ามันอาจจะมีส่วนถูกหรือเปล่า นั่นแหละ เราก็อาจจะค้นพบว่าเขาอาจจะมีส่วนที่ถูกอยู่และเราก็อาจจะมีส่วนผิดได้เช่นกัน

เอาแค่เรื่อง “ช้างกับควาญช้าง” ในหนังสือเล่มนี้ก็อาจทำให้เราหันมาตั้งคำถามกับเหตุผลของตัวเองได้แล้ว “ทฤษฎีช้างกับควาญช้าง” บอกไว้ว่า หากการตัดสินสิ่งต่างๆ ของคนเราแบ่งเป็น 2 อย่างคือตัดสินด้วย “เหตุผล” กับตัดสินด้วย “อารมณ์ความรู้สึก” เมื่อเอามาเปรียบกับ “ช้าง” และ “ควาญช้าง” แล้ว เรามักเชื่อไปว่า เหตุผลของเรามีพลังมากกว่าอารมณ์เสมอ ดังนั้นเหตุผลก็น่าจะเปรียบเสมือนควาญช้างที่คอยควบคุมช้างซึ่งคืออารมณ์ความรู้สึกให้เราตัดสินสิ่งต่างๆ และเดินหน้าไปโดยมีเหตุและผลนำ ไม่ใช่เอาความรู้สึกนำ

แต่ในหนังสือเริ่มนี้กลับบอกว่า จริงอยู่ที่ควาญช้างเปรียบเสมือนเหตุผล และช้างเปรียบเสมือนอารมณ์ความรู้สึก แต่เอาเข้าจริงแล้ว การควบคุมมันสลับกลับด้านกันเลย ควาญช้างไม่ได้ควบคุมช้าง หากแต่เป็นช้างหรืออารมณ์ต่างหากที่คอยนำทาเราอยู่เสมอ โดยมีควาญช้างหรือเหตุผลทำหน้าที่เพียงเปิดเส้นทางที่ช้างอยากจะมุ่งไปเท่านั้น หมายความว่า คนเราใช้อารมณ์ความรู้สึกนำหน้าเหตุผลเสมอ และเราก็มักใช้เหตุผลเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้การตัดสินหรือการกระทำที่เราทำออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกของเราเท่านั้นเอง เพียงแค่เรื่องนี้ เราก็อาจฉุกคิดขึ้นมาว่ามันอาจจะมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวเราเองที่เรายังไม่รู้ก็ได้ ซึ่งอาจจะถอดสลักความรุนแรงในสังคมออกเสียก่อนได้

สุดท้ายกับคำถามที่ว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร ก็อย่างที่บอกไว้แต่ต้น ในยุคสมัยนี้ หนังสือเล่มนี้ก็น่าจะเหมาะกับทุกคนและทุกฝ่ายที่ไม่อยากให้ความแตกแยกทางความคิดที่มีอยู่แล้วมันเลยเถิดจนกลายเป็นความรุนแรงทางกายภาพขึ้นมา และเมื่อพูดถึงจังหวะเวลา ก็ไม่น่าจะมีช่วงเวลาไหนในประวัติศาสตร์ที่เราควรจะอ่าน “ความถูกต้องอยู่ข้างใคร” มากกว่านี้อีกแล้วครับ

“ผมจะเล่าเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ขอให้หยุดครู่หนึ่งเมื่อคุณอ่านจบ แล้วตัดสินว่าคนในเรื่องนี้ทำอะไรผิดศีลธรรมหรือเปล่า…หมาของครอบครัวโดนรถชนตายที่หน้าบ้าน พวกเขาเคยได้ยินมาว่าเนื้อหมาอร่อยดี ดังนั้นพวกเขาจึงชำแหละซากหมา นำมาทำอาหาร และกินเป็นมื้อค่ำโดยไม่มีใครรู้เห็นว่าพวกเขาทำเช่นนี้”

แท็ก


Author

Related Content