7 ภาษิตเซนที่ช่วยให้อ่านหนังสือได้ดีขึ้น

Published : มกราคม 23, 2024 | Blog | Editor :

ภาษิตของนิกายเซนหรือ ‘เซนโก’ เอามาปรับใช้ได้ในหลาย ๆ สถานการณ์ของชีวิต และในฐานะมนุษย์นักอ่านอย่างพวกเรา จึงขอลองเอาเซนโกมาปรับใช้กับ ‘การอ่านหนังสือ’ 

1 — ‘กลับถึงบ้านและนั่งให้สบาย’

หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพื้นที่นั้น ๆ หากพื้นที่นั้นคือสถานที่อันสงบ ปลอดภัย มีบรรยากาศสดชื่น ชีวิตของคุณก็จะซึมซับเอาสิ่งเหล่านั้น ช่วยให้จิตใจปลอดโปร่ง ในมุมนิกายเซนบ้านจึงสื่อถึงความสุขในการค้นพบความเป็นพุทธะที่อยู่ในตัวของเราทุกคน

การอ่านหนังสือก็คล้ายคลึงกัน หนังสือที่ดี ตรงใจ ช่วยสร้างความสงบและเป็นสุขภายในตัวผู้อ่าน หนังสือที่ใช่อาจสื่อถึงบ้านหลังงามที่ชอบ และถูกค้นพบได้ด้วยตัวนักอ่านแต่ละคนเอง 

2 — ‘อย่าสวมแว่นย้อมสี’ 

ภาษิตนี้คล้ายเป็นคําตำหนิต่อการตัดสินคนด้วยการตั้งแง่ไว้ล่วงหน้า ถ้าคุณตัดสินคนอื่นจากข้อมูลเพียงด้านเดียว คุณก็จะมองเขาผิดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ขั้นแรก ถอดแว่นย้อมสีของคุณออกเสีย

ไม่ต่างจากการอ่านหนังสือ มองแค่เพียงหน้าปก หรือฟังรีวิวจากคนอื่น ย่อมแตกต่างจากเมื่ออ่านและรับสารนั้นด้วยตัวเอง เพราะผู้อ่านแต่ละคนมีประสบการณ์ต่างกัน มีวิธีคิดต่างกัน 

3 — ‘จงดื่มและกินด้วยใจทั้งใจของท่าน’

ภาษิตนี้มีไว้เพื่อสอนเราไม่ให้ถูกรบกวนด้วยสิ่งที่ไม่จำเป็น 

เมื่อคุณดื่มชาถ้วยหนึ่ง ให้จดจ่ออยู่กับการดื่มชาถ้วยนั้นเท่านั้น

เมื่อรับประทานอาหาร ให้จดจ่ออยู่กับการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว 

เมื่ออ่านหนังสือ ให้จดจ่ออยู่กับการอ่านหนังสือเล่มในขณะนั้น

ถ้าเราเอาใจใส่เอานิสัยเหล่านี้มาปฏิบัติ เราก็จะจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ปลดปล่อยตัวตนของเราออกจากความวิตกที่ไม่จำเป็น ใจของเราก็จะตั้งมั่นและเรียนรู้จากการทำสิ่งนั้นได้อย่างเต็มเปี่ยม

4 — ‘วิ่งเจ็ดครั้ง นั่งพักหนึ่งครั้ง’ 

หมายถึง การวิ่งแข่งไปตลอดชีวิตไม่ใช่เรื่องผิด แต่ในทัศนะเซนการอยู่นิ่ง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย 

วิถีเซนสอนเราว่า ความนิ่งเป็นเรื่องสำคัญ ความนิ่งเปิดช่องให้เราได้พิจารณาตัวเองว่า เราเป็นอย่างไรบ้าง การหยุดเมื่อคุณสะดุดหรือล้มเหลวนั้นเป็นโอกาสให้พิจารณาว่าเราล้มเหลวอย่างไร เพราะเหตุใด

การอ่านเองก็จำเป็นต้องมีการหยุดและพัก เพื่อทบทวนสิ่งที่เราได้รับจากหนังสือ คล้ายกับหลายคนที่อ่านแล้วหยุดคิด จดบันทึก เขียนรีวิว หรือแปะ Post-it เอาไว้

5 — ‘การบรรลุธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูดหรือการเขียน การรู้แจ้งทางจิตวิญญาณเข้าถึงได้ด้วยการชี้แนะทางฌานเท่านั้น’ 

สื่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่อาจเอ่ยเป็นถ้อยคําหรือเขียนลงกระดาษ หัวใจสำคัญของคำสอนพระพุทธศาสนานั้นอยู่นอกคัมภีร์และบทเทศน์ 

หลายครั้งการอ่านก็เป็นเพียงเส้นทางที่นำพาบรรดานักอ่านมุ่งไปสู่อะไรบางอย่าง ซึ่งเก็บเกี่ยวได้จากการอ่านครั้งนั้น ๆ นอกจากชั่วขณะที่อ่าน สิ่งสำคัญคือภายในที่เปลี่ยนแปลงไปของเรา 

6 — ‘ทุกก้าวคือสถานที่ให้เรียนรู้’ 

สื่อว่า ไม่ว่าเราจะไปที่ใด ทำอะไร ก็มีเรื่องให้เราเรียนรู้เสมอ และเมื่อเราทุ่มเทใส่ใจทุกสิ่งที่เราทำก็นับเป็นการฝึกฝนได้ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิแบบซาเซน การกินข้าว การทํา ความสะอาด รวมทั้งการอ่านหนังสือ 

7 — ‘อิจิโกะ อิจิเอะ : ครั้งหนึ่งในชั่วชีวิต’ 

อิจิโกะ อิจิเอะ หมายความว่า คุณควรทะนุถนอมทุกการพบเจอ เพราะคุณอาจไม่ได้เจอสิ่งนั้นอีกเลย นี่อาจเป็นโอกาสแรกและโอกาสเดียว 

เมื่อเรากลับมาอ่านหนังสือเล่มเดิมอีกครั้งในโมงยามที่แตกต่างออกไป ความรู้สึกหรือเรื่องราวที่เราเก็บเกี่ยวได้ก็อาจแตกต่างไปจากครั้งก่อน ๆ แล้ว ดังนั้น ทุกครั้งที่ได้อ่านหนังสือจึงสำคัญ ลองจดจำและยินดีกับช่วงเวลาที่ได้อ่านดู 

‘เซนโก’ เหล่านี้ตกทอดมาจากเรื่องเล่าและพระสูตร ช่วยให้เราเข้าใจปัญญาญาณและวิถีปฏิบัติแบบเซน โดยเราจะได้เจอภาษิตเซนในระหว่างอ่าน ‘วางใจให้ไร้กังวล’ หนังสือถอดบทเรียนจากนิกายเซน ที่จะช่วยให้เราละวางความวิตก และจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน โดยในท้ายเล่มมีการรวบรวมภาษิตเซนเอาไว้ในดัชนี สำหรับใครที่อยากอ่านเพิ่มเติมจากในโพสต์นี้ด้วย 

แท็ก


Related Content