สิ่งที่อยู่หลังกำแพง ฝั่งตรงข้าม ‘วิมานนาซี’
Published : เมษายน 18, 2024 | Blog | Editor :

ในภาพยนตร์ The Zone of Interest เราจะได้เห็นบ้านอันสวยงามของ รูดอล์ฟ เฮิส ผู้บัญชาการค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ กับครอบครัว ที่นี่อาจตรงกับบ้านในฝันของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นภายในที่ดูสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ บริเวณสวนด้านนอกที่ดูร่มรื่น และแปลงดอกไม้สีสันสดใส
แต่ไม่เคยมีสักฉากที่เผยให้เห็นสภาพเบื้องหลังกำแพงฝั่งตรงข้าม ถึงกระนั้น เราก็ได้ยินเสียงของสิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่าไม่มีสิ่งใดสามารถปิดบังความเลวร้ายอันเกินจินตนาการในนั้นได้
สงครามโลกครั้งที่สองจบลงในเดือนพฤศจิกายน ปี 1945 หลังจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ฆ่าตัวตายไม่กี่เดือน บรรดานายพลชั้นสูงแห่งค่ายกักกันได้รับโทษ ส่วนชาวยิวที่ยังรอดชีวิตได้รับการปลดปล่อย
วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล จิตแพทย์ชาวออสเตรีย เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันแห่งหนึ่ง สิบเอ็ดเดือนต่อมาหลังรอดพ้นจากความตายและความทุกข์ทรมาน ฟรังเคิลได้แสดงปาฐกถาครั้งสำคัญว่าด้วยความหมายและคุณค่าของชีวิต ในเดือนมีนาคม ปี 1946
หากบ้านของรูดอล์ฟ เฮิส เปรียบได้กับ ‘วิมานหน้ากำแพง’ ที่นำเสนอบนจอ สิ่งที่ถูกเล่าไว้ในหนังสือคือ ‘นรกหลังกำแพง’ และนี่คือบางส่วนของสิ่งที่เกิดขึ้นหลังกำแพงสูงใหญ่ ซึ่งฟรังเคิลได้เล่าไว้
โลกหลังกำแพง หรือ ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz)
ค่ายกักกันแห่งนี้เป็นทั้งที่คุมขังนักโทษชาวยิวและแหล่งแรงงานขนาดใหญ่ มีการส่งกลุ่มนักโทษไปโรงงานลับเพื่อผลิตยุทโธปกรณ์อยู่เสมอ พวกเขามักต้องออกเดินทางในตอนรุ่งสาง ชาย 280 คน เดินเรียงแถวไปตามถนนโดยมีผู้คุมคอยจับตาอยู่ตลอด
นักโทษแต่ละคนเดินกะโผลกกะเผลก ขาของพวกเขาบวมโตและโป่งพองจากอาการบวมน้ำเพราะขาดสารอาหารจนแทบจะแบกรับร่างกายที่มีน้ำหนักโดยเฉลี่ยเพียง 40 กิโลกรัมไว้ไม่ไหว เท้าของพวกเขาปวดแสบด้วยแผลสด ๆ เต็มไปด้วยตุ่มหนองจากการกดทับและโดนอากาศหนาวกัดจนเปื่อย แต่พวกเขาจำต้องลากสังขารตัวเอง คอยประคองและหิ้วปีกกันอย่างทุลักทุเลไปให้ถึงจุดหมาย
บทสนทนากลางไซต์งานมักเป็นเรื่องซ้ำ ๆ วนเวียนอยู่กับหัวข้อเดิม ๆ คือเรื่องอาหาร เพราะสิ่งที่ดีที่สุดไม่ใช่การจินตนาการถึงวันแห่งอิสรภาพ แต่เป็นเพียงการนึกถึงวันที่ได้กลับไปลิ้มรสสุดยอดอาหารเหล่านั้นอีกครั้ง พวกเขาจะแลกเปลี่ยนสูตรอาหาร พูดถึงอาหารจานโปรด หรือไม่ก็จะพล่ามถึงอาหารหรูหราหลากหลาย และจินตนาการว่าตัวเองจะมีโอกาสได้ปรุงอาหารเหล่านั้นให้กันและกัน
อาหารหลักของนักโทษในค่ายกักกันคือ ซุปน้ำใส่จ๋อมแจ๋ม ที่หากโชคดีก็จะตักไปเจอมันฝรั่งสักชิ้น นี่เป็นอาหารเพียงมื้อเดียวที่ตกถึงท้องในยามเย็นหลังกลับจากใช้แรงงานมาทั้งวัน
แม้กำแพงที่กั้นระหว่างวิมานนาซีแลค่ายกักกันในภาพยนตร์จะปิดบังภาพความจริงเอาไว้ แต่เรายังสัมผัสได้ถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ทำให้คนในบ้านแสนสุขนอนไม่หลับ แสงไฟจากเตาเผาที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หรือโครงกระดูกที่ปรากฎให้เห็นเพียงชั่วครู่ในแม่น้ำ
“เป้าหมายเผด็จการทุกยุคทุกสมัย คือการโจมตีความหวังและความหมาย”
‘อย่าสูญสิ้นความหวัง ชีวิตยังมีความหมาย Yes to Life: In Spite of Everything’ เป็นหนังสือที่ถูกเรียบเรียงขึ้นจากเนื้อหาของปาฐกถา ปรัชญาชีวิตของฟรังเคิลกลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์อันเลวร้ายในค่าย เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้คนที่ยังคงต้องดำรงอยู่ต่อไปในช่วงหลังสงครามใหญ่ และกอบกู้ความหวังของมนุษยชาติที่สูญหายไปในระหว่างนั้น
เพื่อให้เราเข้าใจว่าความโหดร้ายไม่สมารถลดทอนความหวังในใจของคนที่ยังฝันถึงอิสรภาพและชีวิตที่มีความหมาย เช่นเดียวกับที่วิมานแสนงามไม่สามารถปกปิดหรือบิดเบือนความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ได้
— — —
📚 อย่าสูญสิ้นความหวัง ชีวิตยังมีความหมาย
Yes to Life: In Spite of Everything
แท็ก
Related Content

คุณกำลังทำงานตามเข็มนาฬิกา เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดอยู่หรือเปล่า?
ศตวรรษที่ 21 คงเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนกังวลมากที่สุดว่าเรา…

คณิตพิชิตรัก…ถอดบทเรียนจาก A Beautiful Mind จีบยังไงให้ประสบความสำเร็จ
คณิตพิชิตรัก…ถอดบทเรียนจาก A Beautiful Mind จีบยั…

In Dept ‘มหาศึกแห่งดูน’
พอขึ้นชื่อว่าเป็นนิยายไซ-ไฟ หลายคนคงจินตนาการว่าเรื่องร…