สัมภาษณ์ถอดลึก “อย่าสูญสิ้นความหวัง เพราะชีวิตยังมีความหมาย” กับ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

Published : มิถุนายน 8, 2023 | Blog | Editor :

คุณเคยคิดไหมว่าช่วงเวลาในปัจจุบันนี้คล้ายคลึงกับช่วงเวลาในสงครามโลกครั้งที่สอง โลกตกอยู่ท่ามกลางความสิ้นหวัง หดหู่ ทุกข์โศก และความเกลียดชังที่เหมือนจะทวีขึ้นทุกหย่อมหญ้า

เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตทางจิตใจอันหนักหนาสาหัส ความศรัทธาที่เสื่อมถอย จนไม่สามารถมองเห็นความหวัง หรือความหมายของการดำรงอยู่ได้ต่อไป

แต่ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ (ในตอนนี้) เราอยากบอกว่าทุกชีวิตคู่ควรกับการดำรงอยู่ และทุกชีวิตมีคุณค่าและความหมายอยู่ในนั้น ในชั่วโมงที่พลังใจเหมือนจะดับ ถ้อยคำของวิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล จะจุดประกายให้พลังใจของคุณหวนคืนมาผ่านหนังสือเล่มนี้

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ที่ถอดลึกถึง “อย่าสูญสิ้นความหวัง เพราะชีวิตยังมีความหมาย” ที่ Be (ing) ชวนคุณอ๋อง วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ นักแปลมาพูดคุย เพื่อที่เราจะได้เห็นทางเดินไปสู่ความหมายในชีวิตพร้อมๆ กัน

Being: รู้สึกอย่างไรต่องานของฟรังเคิลและการแปลหนังสือเล่มนี้

คุณอ๋อง: เราอ่านหนังสือชีวิตไม่ไร้ความหมาย Man’s Search for Meaning ของวิกเตอร์ ฟรังเคิล มาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ และประทับใจมาก เคยอ่านหลายสำนวนแปลของหลายสำนักพิมพ์ มีติดบ้านไว้ และอ่านมันในหลายๆ ช่วงวัย

เราว่าแนวคิดของวิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล ให้คำตอบกับคำถามที่เราสงสัยมาตลอด ว่ามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ชีวิตที่ดีคืออย่างไร เราได้รับความเข้าใจที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้งที่อ่าน มากบ้างน้อยบ้าง

ซึ่งแนวคิดเรื่องความหมายของชีวิตของเขา มีส่วนทำให้แต่ละช่วงวัยของเราสามารถผ่านพ้นมาได้แบบดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่อย่างน้อยก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงภายใน

พอได้มาเจอหนังสือเล่มใหม่เล่มนี้จึงตื่นเต้นดีใจ เพราะคิดว่าจะทำให้เราเข้าใจแนวคิดของวิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล ให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อได้มาอ่านเล่มนี้ ในวัยนี้ หลังจากได้อ่าน Man’s Search for Meaning มาก่อนหน้า

ก็ทำให้เราพบว่าเล่มนี้โอบคลุมประเด็นที่กว้างออกไปทางปรัชญาและจริยธรรม มีการอธิบายลงในรายละเอียดของอภิปรัชญาแบบอัตถิภาวนิยม ไล่ลงมาเป็นจริยธรรมแบบอัตถิภาวนิยม และก็มาสู่เรื่องจิตวิทยาและจิตบำบัดแบบอัตถิภาวนิยม

ช่วยทำให้เข้าใจเรื่องความหมายของชีวิตในแง่มุมที่กว้างออกไป มากกว่าตัวอย่างประสบการณ์จากค่ายนาซี เราว่ามันจะประยุกต์ได้กับชีวิตประจำวันของเราได้มากขึ้น

ตอบเราว่าทำไม อย่างไร เหตุผลของการยืนหยัดมีชีวิต ในสภาพทุกข์ทรมานจากเงื่อนไขต่างๆ ตั้งคำถามกับการฆ่าตัวตาย การทำการุณยฆาต ความเจ็บป่วยที่รักษาไม่หาย และเงื่อนไขต่างๆ จากภายนอกอย่างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองด้วย

Being: จากการแปลหนังสือมาหลายเล่ม เล่มนี้แตกต่างจากเล่มที่เคยแปลมาอย่างไรบ้าง

คุณอ๋อง: ตอนมีอายุมากขึ้นๆ เราพบว่าแนวคิดเรื่องความหมายของชีวิต มีอิทธิพลวนเวียนอยู่ในงานของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

มันเริ่มต้นมาจากหนังสือเล่มแรกๆ ที่เราเขียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสังคมร่วมสมัย อย่างไซเบอร์บีอิง การเดินทางใต้เงาตึก สุนทรียะแห่งความเหงา ส่วนใหญ่มันเหงา เคว้งคว้าง ว่างเปล่า เจ็บปวดอยู่ภายใน แสดงให้เห็นสภาวะสุญนิยม ที่เราคิดและเชื่อไปในตอนนั้นโดยที่ไม่รู้ตัวว่าคิดและเชื่อแบบนี้

จนอายุมากขึ้น ความคิดและความเชื่อมันเปลี่ยนแปลง เบี่ยงเบนออกจากสุญนิยม ด้วยปัจจัยหลายอย่างในชีวิต และส่วนหนึ่งก็มาจากหนังสือของฟรังเคิลด้วย และก็หนังสือเล่มอื่นๆ ที่นำแนวคิดนี้มาขยายต่อๆ มาในอีกหลายทศวรรษต่อมา

หนังสือที่เราเขียนและเลือกแปล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มุ่งไปสู่แนวทางเดียวกัน พูดถึงปัญหาเดียวกันและมีคำตอบคล้ายกัน ถ้าสังเกตดู เช่น

🔹 เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบานเอง วินาทีไร้น้ำหนัก พูดถึงความอดนทนและเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ในชีวิต
🔹 อิคิไก วะบิซะบิ พูดถึงแนวทางแบบสโตอิก คือความสงบนิ่ง ปรับกรอบความคิดภายใน และมุ่งหาความพึงพอใจจากธรรมชาติ หรืออะไรที่ง่ายๆ ผ่อนคลาย
🔹 ชีวิตที่ใช่ ไม่ต้องใช้ทางลัด ตั้งคำถามกับสังคมปัจจุบันที่รีบเร่ง แข่งขัน เอาแต่มองหาแต่สูตรสำเร็จเคล็ดลับง่ายๆ แล้วในที่สุดมันย้อนกลับมาที่ความทุกข์ใจภายในอยู่ดี แล้วเราจะแก้ไขสูตรสำเร็จพวกนี้อย่างไร
🔹 ความถูกต้องอยู่ข้างใคร อธิบายการทำงานของสมอง จิตใจ และความคิดของเรา ที่ชอบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและมุ่งตัดสินคนอื่น มันทำให้เราติดตามความคิดเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองได้ทัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันกับคนที่เห็นต่างได้ดีขึ้น

ทั้งหมดนี้มันก็คือการตอบคำถามส่วนตัวของเราเอง ซึ่งก็คือเรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร และชีวิตที่ดีคืออย่างไรกันแน่ คำตอบส่วนใหญ่ในช่วงหลังมานี้คือให้พึงพอใจภายใน ทำความเข้าใจชีวิตและโลกเสียใหม่ พยายามทำความเข้าใจตัวเองเป็นหลัก จิตใจและความคิดของเราเอง แต่ไม่ใช่เพื่อหยุดอยู่กับตัวเอง แต่เพื่อที่จะก้าวออกไปจัดการกับโลกรอบตัวได้ดีขึ้น

แน่นอนว่าคำถามพวกนี้มีคำตอบแตกต่างออกไปหลากหลายแนวทาง ซึ่งหนังสือของเราเองก็เป็นคำตอบแนวทางหนึ่งเท่านั้น เรามักจะไม่ค่อยเลือกมาแปล หรือไม่ค่อยมีคนมาเสนอให้แปล ไปในแนวทางอื่นๆ อาจจะเพราะเขาคงพอรู้ว่าเราสนใจแบบนี้ คิดแบบนี้

Being: อะไรที่ทำให้ Yes to Life แตกต่างจาก Man’s Search for Meaning

คุณอ๋อง: Yes to Life เป็นต้นฉบับที่สาปสูญมาเจ็ดสิบปี วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล เขียนมันขึ้นมาจากคำปาฐกถาของเขาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังรอดออกจากค่ายนาซีมาได้ไม่นาน เขาแสดงปาฐกถาครั้งนี้ และเรียบเรียงมันเป็นหนังสือเล่มนี้ ในช่วงเวลาเดียวกับที่เขาเขียน Man’s Search for Meaning จึงมีตัวอย่างเหตุการณ์ในค่ายนาซีที่คล้ายกันอยู่ส่วนหนึ่ง

แต่จุดที่น่าสนใจ คือเล่มนี้ขยายความเรื่องอภิปรัชญาและจริยธรรมแบบอัตถิภาวนิยม เพื่อนำมาตอบคำถามถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต ท่าทีของเราต่อความทุกข์ในชีวิต การตัดสินใจฆ่าตัวตาย หรือทำการุณยฆาต

ว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้มีความสมเหตุสมผล หรือมองว่าถูกผิดอย่างไร และถ้าเราเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เราจะดำเนินชีวิตไปด้วยมุมมองอย่างไร ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความทุกข์ โดยยกตัวอย่างถึงสถานการณ์ความป่วยไข้ของคนไข้ทางจิตเวชของเขา และทุกข์ทรมานของผู้ป่วยด้วยโรคอื่นในโรงพยาบาลที่เขาเคยทำงาน และอีกส่วนหนึ่งคือประสบการณ์ชีวิตของเขาเองในค่ายนาซี

จะเห็นว่าในเล่มนี้ เขานำทั้งเรื่องทางจิตใจ เรื่องทางร่างกาย และเรื่องสภาพสังคมในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง สามเรื่องนี้มันมาสอดร้อยเข้าด้วยกันได้หมด เพื่อแจกแจงให้เห็นถึงปัญหาทางใจของคนในยุคสมัยนั้น และได้ให้ทางออกในแนวทางที่เขาเชื่อ

ซึ่งปัญหามันพ้องกับสังคมเรายุคปัจจุบัน ก็เลยเป็นคำถามว่าทางออกตามแนวทางของเขานั้น คุณคิดว่านำมาประยุกต์ใช้ได้ไหม

Being: ถึงจะเป็นถ้อยคำที่ฟรังเคิลพูดถึงไว้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำไมถึงยังฟังร่วมสมัยอยู่จนปัจจุบัน

คุณอ๋อง: เพราะธรรมชาติของความคิดและจิตใจคนเราคงเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะในยุคนี้หรือในยุคเจ็ดสิบปีก่อน

จุดที่สำคัญ น่าสนใจและอยากเน้นย้ำ คือความเชื่อมโยงหนังสือเล่มนี้ จากโลกเมื่อเจ็ดสิบปีก่อนกับโลกของเราในปัจจุบัน ก็คือสังคมเผด็จการ

เมื่ออ่าน Yes to Life ไปเพียงแค่เริ่มบทแรก คุณจะรู้สึกขึ้นมาเลย ว่าเอ๊ะ ทำไมสิ่งที่นาซีทำในสมัยโน้น ช่างคล้ายคลึงและมุ่งเป้าหมายเดียวกัน กับสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทุกประเทศทั่วโลก และในบ้านเรากำลังทำอยู่ในทุกวันนี้

คือทำให้ประชาชนรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า ไร้ความหมาย เพียงมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ตามที่ถูกกำหนดหรือออกคำสั่ง เรากำหนดชะตากรรมตัวเองไม่ได้ มองออกไปไม่เห็นวันข้างหน้าที่ดีขึ้น เราหมดหนทางต่อกรกับอำนาจรัฐ แล้วในที่สุดเราก็ท้อแท้ สิ้นหวัง หมดแรง

ลำดับต่อมา พอสิ้นหวังไปมากๆ เข้า จิตใจเราแก้ไขด้วยการปรับความรู้สึกภายใน ในทางหนึ่งก็มุ่งไปที่ความสุข คือหาความสุขสงบทางใจ ทางกาย ใช้ธรรมะมากดไว้ หรือดื่มกินจับจ่าย

ในอีกทางหนึ่ง ใจเราจะมุ่งไปที่ความว่างเปล่า เราจำเป็นต้องรู้สึกถึงความว่างเปล่า เพราะมันทำให้เราเบาสบาย เมินเฉย และหัวเราะเยาะสิ่งต่างๆ เพื่อที่เราจะได้สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้แบบมึนๆ ชาๆ ไม่แยแสอะไร

จุดสำคัญอยู่ที่เจ้าความว่างเปล่านี่แหละ ที่ในที่สุดก็ก่อให้เกิดปัญหากับเรา ในทุกๆ วันเราออกไปทำงานเสร็จกลับห้อง แล้วก็นอนมองจอทีวีไปเรื่อยๆ โดยที่ในใจคิดสงสัยว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร

ตอนที่มีงาน มีเงิน มีความสุขสบายที่หาได้ เราอาจจะยังไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่ในเวลาที่ถ้าสถานการณ์ในชีวิตเลวร้ายกว่านี้ คือเงินทองขัดสน หรือร่างกายและจิตใจเจ็บป่วยเรื้อรังรักษาไม่ได้ แบบนี้สถานการณ์ชีวิตจะยิ่งหนักหนา ความว่างเปล่านำไปสู่ความเจ็บป่วยภายใน ความโกรธขึ้ง ซึมเศร้า หมดแรง สิ้นหวัง แล้วก็คิดว่าจะละทิ้งชีวิตไปง่ายๆ

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่มีปัจจัยมาจากภายในตัวของปัจเจกเท่านั้น มันมาจากสภาพสังคมภายนอกเป็นส่วนใหญ่ด้วย

แล้วความสุขที่แท้คืออะไร?? โลกและจักรวาลจะมุ่งไปสู่ความเสื่อมทรามหรือดีงามขึ้น?? คำตอบของคำถามพวกนี้ก็มีหลากหลาย มีปรัชญาหลากสำนัก มีหนังสือหลายเล่มอธิบายมันไปต่างๆ กัน และ วิกเตอร์ ฟรังเคิล หลักปรัชญาของเขา และ Yes to Life อธิบายที่มาที่ไปของเรื่องเหล่านี้ พร้อมกับให้คำตอบไปตามแนวทางของเขา

หนังสือจะช่วยให้เราเข้าใจ ว่าสิ่งที่เรากำลังมีประสบการณ์หรือกำลังรู้สึก ถึงชีวิตที่ตกต่ำอยู่ในจุดต่ำสุดและคิดว่ามันสิ้นหวัง มีที่มาจากไหน และจริงๆ แล้วเราคิดแบบอื่นได้อีกหรือเปล่า

Being: ทำไมเราถึงไม่ควรนำความสุขมาเป็นเป้าหมายของชีวิต และทำไมเราถึงไม่ควรเลิกแยแสต่อชะตากรรมชีวิต

คุณอ๋อง: ส่วนแรกในเรื่องของความสุข จากในหนังสือจะมีประโยคหนึ่งที่ฟรังเคิลอ้างมาจาก เซอเรน เคียร์เคอการ์ด ว่า ประตูสู่ความสุขนั้นเปิด “ออกด้านนอก” เสมอ หรือกล่าวได้ว่า ประตูนั้นปิดตัวเองจากผู้ที่พยายามจะผลักประตู “เข้าไป” สู่ความสุข

ดั้งนั้น ความสุขจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ทั้งนั้น เช่น เราทำดี แต่ทำไมเราไม่ได้ดี เราทำบุญ แต่ทำไมเราไม่ได้บุญ เราขยัน แต่ทำไมเราไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เราคาดหวังอาจจะได้หรือไม่ได้ก็ได้ มันแล้วแต่ว่าชะตากรรมจะส่งอะไรมาให้เรา

ถ้าเราไปมุ่งสู่ความสุข คาดหวังว่าเมื่อทำอะไรไปแล้วจะได้ความสุขกลับมา มันก็เหมือนเรากำลังมุ่งไปสู่สิ่งที่มันไม่ได้อยู่ในความควบคุมของตัวเอง ความสุขเป็นได้เพียงแค่ผลลัพธ์ของการกระทำที่เราได้ทำสำเร็จไป แต่มันจะไม่ใช่ปลายทางที่เราจะมุ่งไปสู่

แต่ถ้าเราย้ายแกนจากความสุขไปหาความหมาย มันจะทำให้ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม เราสามารถแสวงหาเหตุผล จุดประสงค์ หรือการกระทำให้กับชีวิตได้ทุกครั้ง

สิ่งที่กำลังจะมาถึง มันไม่ใช่สิ่งที่เรากำหนด ความสุขไม่ใช่สิ่งที่เรากำหนดได้ แต่เราสามารถกำหนดความหมายได้

ส่วนความไม่แยแส มันเกิดจากสุญนิยม จริงๆ แล้วโลกอาจจะไร้สาระก็ได้ จริงๆ แล้วชีวิตอาจจะไร้ความหมายก็ได้ ไม่มีใครรู้แน่ชัดหรอกว่าโลกคืออะไร ชีวิตคืออะไร มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราเอง การลงมือทำของเราเอง และความรับผิดชอบตัวเอง ในฐานะเจ้าของชีวิต

คุณไม่แยแส ก็แล้วแต่ คุณก็รับผลของมัน แต่ถ้าคุณใส่ใจ ดูแล ต่อสู้บากบั่น คุณก็จะได้รับผลอีกแบบ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความสุขหรือความสำเร็จ แต่เป็นความหมายที่คุณใส่เข้าไปในชีวิต ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เรามีสุขภาวะทางใจ (ไม่ใช่ความสุขความสำเร็จ)

Being: ทิ้งท้ายถึงความประทับใจของเล่มนี้สั้นๆ

คุณอ๋อง: ช่วงท้ายๆ บท ของทั้งสามบท เขาสรุปรวมหลักปรัชญาและจริยธรรม พูดถึงอภิความหมาย อภิปรัชญาในชีวิตประจำวัน จริยธรรมในชีวิตประจำวัน มันทำให้เราเข้าใจแนวคิดของวิกเตอร์ ฟรังเคิล ได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าตอนที่เราอ่านจากหนังสือเล่มอื่นๆ

“ผมเชื่อว่าไม่มีเวลาไหนที่จะเหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้ว ที่เราจะนำประเด็นนี้มาทบทวนและอภิปรายร่วมกัน”

แท็ก


Related Content