งานวิเคราะห์และการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อยู่รอดของ วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล อดีตนักโทษค่ายกักกันนาซี

Published : พฤษภาคม 11, 2023 | Blog | Editor :

“…ไม่ว่าวันข้างหน้าของเราเป็นเช่นไร
เรายังคง ตอบรับกับชีวิต ว่าจะอยู่ต่อไป
เพราะวันใดวันหนึ่ง วันนั้นจะต้องมาถึง
คือวันซึ่งพวกเราจะได้เป็นอิสระ!”

วลีด้านบนนี้มาจากเนื้อเพลงที่เหล่านักโทษในค่ายบูเคนวาลด์ (Buchenwald) เคยร้องคลอ ค่ายแห่งนี้เป็นหนึ่งในสี่ค่ายของนาซีที่ ‘วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล’ จิตแพทย์ชาวออสเตรีย เคยถูกคุมขังไว้

มีนักโทษผู้รอดชีวิตคนหนึ่งจากค่ายพูดถึงการร้องเพลงนี้ว่า พวกเขาพยายามร้องมันโดย “ทุ่มความเกลียดชังทั้งหมดของเราใส่เข้าไป” แต่นักโทษบางคนกลับมองว่า บางส่วนในเนื้อเพลงแสดงถึง “ความหวัง”

…วิกเตอร์ ฟรังเคิล เริ่มทำงานเป็นจิตแพทย์ในกรุงเวียนนาช่วงทศวรรษ 1930 ค้นคว้าเรื่องภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในช่วงเวลาที่พรรคนาซีเรืองอำนาจ กระทั่งเขาถูกกักขังในค่ายของนาซีเอง ฟรังเคิลศึกษาเพื่อนนักโทษ เพราะเขาสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่แยกคนที่ยังทัศนคติในแง่บวกไว้ได้ ออกจากคนที่ทนแบกรับไม่ไหว หมดแรงจูงใจ และมักฆ่าตัวตาย

และเขาสรุปได้ว่า คนที่มีโอกาสมีชีวิตรอดมากที่สุดคือ คนที่ชีวิตมีจุดมุ่งหมายกว้างกว่า มีเป้าหมาย แผนการ หรือความสัมพันธ์บางอย่าง มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่

ตรงกับงานวิชาการชิ้นหนึ่งของฟรังเคิลซึ่งเสนอว่า แทนที่จะแสวงหาเพียงแค่ความสุข เราสามารถแสวงหาในแง่ของจุดประสงค์ที่ชีวิตนี้เสนอมาให้กับเรา กล่าวคือ ผู้คนเติมเต็มความหมายให้ชีวิตได้ด้วย 3 หนทาง

1. การกระทำ เช่น การสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ หรือการทุ่มเททำในสิ่งที่รัก สิ่งที่จะอยู่ยั้งยืนยงกว่าตัวเรา และจะยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไป

2. ความหมายจะถูกพบเจอในการชื่นชมธรรมชาติ ชิ้นงานศิลปะ หรือเพียงการรักผู้คน

3. ขึ้นอยู่กับวิธีการที่บุคคลหนึ่งปรับตัวและโต้ตอบกับข้อจำกัดอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตของเขา เช่น เผชิญหน้ากับความตาย หรือการอดทนต่อชะตากรรมอันโหดร้ายอย่างในค่ายกักกันนาซี

โดยสรุปคือ ชีวิตของเรามีความหมายได้ด้วยการกระทำของเราด้วย “ความรักและความทุกข์”

แนวคิดนี้ไม่ต่างจาก ‘พอล บลูม’ ผู้เขียนหนังสือ “หากไม่เคยเจ็บ คงไม่ซึ้งถึงความสุข” (The Sweet Spot: The pleasures of suffering and the search for meaning) หนังสือที่ว่าด้วยจุดกลมกล่อมระหว่างสุขและทุกข์ที่พอดิบพอดี ซึ่งสร้างความหมายให้กับการดำรงอยู่ได้

ตัวพอล บลูม เองก็เคารพนับถือวิธีคิดของ วิกเตอร์ ฟรังเคิล และแนวคิดหนึ่งของบลูมที่ใกล้ฟรังเคิลอย่างมากคือแนวคิดที่ว่า ‘ชีวิตที่ดีเป็นมากกว่าชีวิตที่มีความสุข เพราะเหนือสิ่งอื่นใด ชีวิตจะต้องมีความดีงามทางศีลธรรม และการแสวงหาที่มีความหมาย…’

…เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ฟรังเคิลได้รับการปล่อยตัวจากค่ายกักกันในวัยสี่สิบปี เขาสูญเสียทุกอย่าง ฟรังเคิลพยายามเริ่มต้นใหม่ ทำงานเป็นจิตแพทย์อีกครั้ง และได้แสดงปาฐกถาครั้งสำคัญ ว่าด้วย “ความหมายและคุณค่าของชีวิต” ปาฐกถาครั้งนั้นมอบพลังแห่งความหวัง

และถูกเรียบเรียงมาเป็นหนังสือ “อย่าสูญสิ้นความหวัง เพราะชีวิตยังมีความหมาย” (Yes to Life: In Spite of Everything)

แท็ก


Related Content