รูปแบบความสัมพันธ์ของ ‘ความรัก’

Published : กุมภาพันธ์ 25, 2025 | Blog | Editor :

เรากำลังมีความรักหรืออยู่ในความสัมพันธ์แบบไหน มีคำเหล่านี้แฝงตัวอยู่ในความรักของเราหรือเปล่า แล้วถ้ามี แปลว่ารักนั้นเป็นไปด้วยดี หรือต้องประเมินความสัมพันธ์นี้กันใหม่ ?

SelfLove — การรักตัวเอง

การรักตัวเองในที่นี้เป็นกิริยาและเป็นการกระทำเชิงรุก มีความหมายเหมือนกับคำว่า การดูแล การทุ่มเทให้ การให้กำลังใจ และการยืนหยัดปกป้องตัวเอง รวมทั้งความรู้สึกมั่นใจที่มาจากการมองเห็นคุณค่าในความสามารถหรือคุณสมบัติของตัวเอง

Avoidant — คนหลีกเลี่ยง

คนที่ชอบหลีกเลี่ยงไม่ได้โกหก แต่พวกเขาตอบคำถามแบบเลี่ยงประเด็นจนเหมือนกำลังพูดเรื่องจริง

สมมติคุณถามใครสักคนหนึ่งว่าความสัมพันธ์ระหว่างพวกคุณจะพัฒนาไปทางไหน แล้วเขาตอบกลับมาว่า “ผมมีความสุขที่ได้อยู่กับคุณนะ แต่ผมเพิ่งจะตัดใจจากใครอีกคนได้ ผมยังไม่แน่ใจว่าตอนนี้ผมต้องการอะไร”

หากเขาไม่ยอมพูดออกมาชัด ๆ ว่า “คุณพูดเรื่องอะไรน่ะ อนาคตก็ต้องมีคุณกับผมไง ที่รัก!” คุณอาจต้องประเมินว่าจะทุ่มเทเวลาและพลังงานให้กับการลงทุนครั้งนี้เท่าไร

RedFlags — สัญญาณอันตราย

ช่วงที่ผ่านมาหลายคนต่างพูดถึง Red Flags หรือสัญญาณอันตรายที่อาจกลายเป็นประเด็นลุกลามในความสัมพันธ์ เช่น เมื่อเขาทำตัวแย่กับคนอื่นเวลาคิดว่าคุณไม่ได้มองอยู่ หลอกให้รัก ไม่ยอมขอโทษเสมอ ผิดสัญญาประจำ กดทับตัวตนอีกฝ่ายในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ฯลฯ

ปัญหาของการหลีกเลี่ยง Red Flags อาจคือความสงสัยว่า เราแต่ละคนมองเห็นสัญญาณนี้เหมือนกันไหม เราคิดมากไปเองหรือเปล่า ทว่ายิ่งเราสังเกตเห็นสัญญาณที่ว่านั้นไวแค่ไหน การได้รู้ว่า ‘เรารู้’ ก็เหมือนกับการชำระล้างใจ

LoveBombing — รักแค่ช่วงแรก

ในที่นี้คือดการหลอกให้รักโดยทุ่มความรักสุด ๆ ไม่ว่าจะด้วยคำหวาน ของขวัญ ฯลฯ และมันก็เกิดขึ้นแค่ช่วงแรก ๆ

Narcissist — ความหลงตัวเอง

ในตำนานกรีก นาร์ซิสซัสเหลือบมองเงาสะท้อนของตัวเองในบ่อน้ำแวบเดียวแล้วก็ตกหลุมรักในทันที

ลูกค้าคนหนึ่งของผู้เขียน ‘ศิลปะการโอบรับรักที่ใช่’ ชื่อว่า แรนดอลล์ เขาทำงานกับคนหลงตัวเองอยู่หลายปี เจ้านายของแรนดอลล์ชอบปั่นหัวให้เขาคิดว่าตัวเองไปทำงานที่อื่นไม่ได้ ในที่สุดเจ้านายกลายเป็นตัวแทนพ่อของเขา แถมเป็นพ่อที่ชอบวางอำนาจ

ดร.รามานี ดูร์วาซูลา ผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยให้คนฟื้นฟูตัวเองหลังจากจบความสัมพันธ์กับคนหลงตัวเอง เตือนว่า เราต้องไม่ลืมคุณสมบัติอย่าง ความใจดี มีเมตตา สื่อสารได้ดี วางใจได้ สนใจอุปสรรคปัญหาที่เราเผชิญอยู่ และอยากจะช่วยเหลือเมื่อคุณต้องเผชิญกับอุปสรรคเหล่านั้น

Gaslighting — การหลอกปั่นหัว

เมื่อใครบางคนทำชีวิตคุณพังพินาศ แล้วอยากให้ทุกสิ่งอย่างกลับไปเป็นดังเดิม ด้วยการกลบเกลื่อนว่าสิ่งที่พวกเขาทำลงไปเป็นแค่เรื่องเล็ก หรือ ทำให้คุณเชื่อว่าเป็นความผิดของคุณ ย้อนกลับมาโจมตีคุณ

แต่ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อให้คุณกลับไป สิ่งที่ทำไม่ได้มาจากความสำนึกผิด แต่เป็นเพราะกลัวว่าตัวเองจะต้องสูญเสีย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เจ็บ และแน่นอนว่าการได้เห็นพวกเขาร้องห่มร้องไห้ทำให้เราเจ็บปวดไปด้วย

HardConversation & #SetBoundary — พูดคุยเรื่องที่ทำให้ลำบากใจ และ การกำหนดขอบเขต

การที่เราเต็มใจจะพูดคุยเรื่องยาก ๆ คือการแสดงออกถึงมาตรฐานหรือขอบเขตในใจของเรา เช่น “ถึงคุณจะเซ็กซี่แค่ไหน แต่ฉันไปต่อมากกว่านี้ไม่ได้ถ้าไม่มีถุงยาง” หรือ “อยู่กับคุณแล้วสนุก แต่ฉันไปต่อไม่ได้ถ้าคุณไม่คิดจะจริงจัง”

การพูดคุยเรื่องน่าลำบากใจที่มี ‘มาตรฐาน’ หรือ ‘ขอบเขต’ ของเราสนับสนุนจึงสำคัญมาก

ถ้ามัวจดจ่อว่า คุณอาจทำให้ใครบางคนกลัวจนหนีไป คุณจะมองไม่เห็นข้อดีของการบอกให้ใครสักคนรับรู้ถึงความกังวลใจที่แท้จริง มันเป็นความกล้าหาญ ความน่ารัก และสร้างความใกล้ชิด เพราะคุณกำลังบอกว่าตัวตนที่แท้จริงของคุณเป็นเช่นไร

LetGo — การปล่อยวาง

การปล่อยวางความเศร้าคือการเปิดพื้นที่ คุณไม่ได้ยอมรับชีวิตที่คุณได้รับมา แต่คุณเลือกจะยอมรับชีวิตที่คุณมี และตัดสินใจใช้ชีวิตไปตามเรื่องราวใหม่ ๆ ที่มีจุดเริ่มต้นคือจุดที่คุณอยู่ในตอนนี้นี่เอง

คำอธิบายเหล่านี้มาจาก
หนังสือ ‘ศิลปะการโอบรับรักที่ใช่’ (Love Life)
โดยผู้เขียน แมทธิว ฮัสซีย์ นะคะ

📍ช่องทางสั่งซื้อ

แท็ก


Related Content