นักเขียนนิยายสืบสวนขนานแท้
Published : ธันวาคม 4, 2023 | Blog | Editor :
นิยายสืบสวนสอบสวนคือเกมที่นักเขียนกับนักอ่านชิงไหวชิงพริบกัน
นิยายแนวนักสืบเรื่องแรกคือ ‘The Murders in the Rue Morgue’ ของ Edgar Allan Poe ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Graham’s Lady’s and Gentleman’s Magazine ในปี 1841 ถือได้ว่าการแข่งขันระหว่างนักเขียนและนักอ่านเริ่มเปิดฉากมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 และยังคงแข่งขันกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ในนิยายเรื่อง ‘Mystery Arena กลเกมมรณะ’ จะมีบางประโยคที่อ่านเจอบ่อยจนแทบจำขึ้นใจ ได้แก่ นิยายสืบสวนที่ดีตัวละครจะต้องมีเหตุมีผล นิยายสืบสวนขนานแท้จะต้องลงมืออย่างมีหลักการ และในนิยายสืบสวนขนานแท้ ไม่ว่าคำบรรยายจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ล้วนสื่อถึงอะไรบางอย่างทั้งสิ้น
ที่เขาเน้นย้ำว่า ‘เรื่องสืบสวนสอบสวนขนานแท้’ บ่อยๆ แบบนี้ ก็เพราะนิยายเรื่องนี้คือรายการเกมโชว์ที่มีโจทย์เป็นนิยายสืบสวน โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องตอบให้ได้ว่าใครเป็นฆาตกร การตอบไม่ได้ง่ายๆ สั้นๆ แค่ระบุชื่อฆาตกรเท่านั้น แต่จะต้องบอกแรงจูงใจได้อย่างมีเหตุผล และอธิบายวิธีการลงมือได้ถูกต้อง เพื่อให้สมกับที่พิธีกรประกาศย้ำบ่อยๆ ว่า ‘นี่คือศึกชิงเจ้าโอตาคุเรื่องสืบสวนสอบสวนตัวจริง’
โอตาคุทั้ง 14 คน ที่เข้ามาชิงรางวัลในรายการนี้ ล้วนเป็นผู้ที่รอบรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับนิยายสืบสวนทั้งสิ้น การตอบแต่ละครั้งจะมีการยกตนข่มท่านอยู่ตลอด ที่หนีไมพ้นคือการยกงานนักเขียนคลาสสิคมาอ้างอิง หรือกล่าวถึงนิยายเรื่องดังที่ใครๆ ก็รู้จักเพื่อเปรียบเทียบพล็อตเรื่องอยู่เสมอ
และนี่คือนักเขียนสืบสวนสอบสวนคลาสสิค มีทั้งที่ถูกกล่าวถึงในนิยายเรื่องนี้และรายชื่อนอกเหนือจากนั้นที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก พวกเขาต่างเป็นต้นธารของโลกแห่งนิยายนักสืบที่ยังคงแผ่ขยายอิทธิพลอย่างกว้างใหญ่ไพศาล และเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นต่อไป
Edgar Allen Poe
เอ็ดการ์ แอลลัน โพ มีชื่อเสียงจากงานเขียนที่นำเสนอความสยองขวัญ ความตาย และด้านมืดของมนุษย์ อย่างบทกวี The Raven และเรื่องสั้น The Fall of the House of Usher อีกมุมหนึ่ง เขาคือบิดาแห่งนิยายนักสืบ
The Murders in the Rue Morgue เป็นเรื่องสั้นแนวสืบสวนเรื่องแรกของโลก เนื้อเรื่องเล่าถึง C. Auguste Dupin นักสืบชาวฝรั่งเศสผู้พยายามไขคดีฆาตกรรมที่มีผู้หญิงสองคนถูกฆ่าอย่างทารุณ หลังจากนั้นโพยังเขียนเรื่องสั้นโดยใช้นักสืบฝรั่งเศสคนนี้อีก 2 เรื่อง ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของงานเขียนสืบสวนแนวคู่หูไขคดี คือมีคนหนึ่งรับบทนักสืบสมองไว อีกคนหนึ่งเป็นเพื่อนผู้คอยสังเกตเหตุการณ์และบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้น
———-
Sir Arthur Conan Doyle
อาจกล่าวได้ว่า เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เป็นตัวละครนักสืบที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกนิยาย
เซอร์ อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์ สร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยเปิดตัวในนิยายเรื่อง A Scandal in Bohemia ดอยล์ยังเขียนเรื่องที่มีนักสืบโฮล์มส์และด็อกเตอร์วัตสัน คู่หูของเขาเป็นตัวละครหลักอีกนับสิบเรื่อง ได้แก่ เรื่องสั้น 56 เรื่อง และนิยายอีก 4 เรื่อง
จักรวาลของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงนับตั้งแต่ครั้งแรกที่ถูกตีพิมพ์ กระทั่งปัจจุบันนี้พวกเขาก็ยังแทรกซึมอยู่ในสื่อสมัยใหม่อย่างละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และดัดแปลงเป็นงานศิลปะอื่นๆ อีก
———-
Agatha Christie
อกาธา คริสตี นับว่าเป็นนักเขียนที่มีผลงานขายดีตลอดกาล ยอดขายเป็นรองแค่ เชคสเปียร์ เท่านั้น
อย่างนิยายสืบสวนเรื่อง And Then There Were None ขายได้มากกว่า 100 ล้านเล่ม ไม่ใช่แค่ในโลกของตัวหนังสือเท่านั้น อย่างละครเวทีเรื่อง The Mousetrap ก็ได้รับการบันทึกว่าเป็นละครเวทีที่จัดแสดงต่อเนื่องมายาวนานที่สุด โดยเล่นมาแล้วมากกว่า 27,500 รอบ
เสน่ห์ในงานสืบสวนของอกาธาคือนักอ่านจะต้องเดาจนถึงหน้าสุดท้าย ตัวละครนักสืบที่โด่งดังของเธอ ได้แก่ Hercule Poirot นักสืบที่เก่งกาจและมีความมั่นใจสูง แต่มักจะทำให้คนรอบตัวอึดอัด และ Miss Jane Marple หญิงชราใจดีที่ไขคดีได้เพราะความชอบสังเกตเรื่องของชาวบ้าน
Raymond Chandler
เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกและมีอิทธิพลอย่างสูงต่อนิยายนักสืบเอกชนยุคใหม่ เขาเป็นนักเขียนนิยายสืบสวนที่เน้นเรื่องภาษา ซึ้งจะเห็นได้จากบทสนทนาที่คมคาย การบรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพตัวละครและบรรยากาศ
นอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียนที่บุกเบิกการเขียนนิยายสืบสวนแนว Hardboiled ซึ่งนำเสนอความบู๊ ความรุนแรง รวมไปถึงเรื่องทางเพศของตัวละคร เหตุผลของการเขียนแบบดุเดือดนั้นเป็นเพราะต้องการสะท้อนภาพความเสื่อมโทรมของเมืองใหญ่ และด้านมืดของตัวละคร
———-
Ellery Queen
เอลเลอรี่ ควีน เป็นชื่อตัวละครและเป็นนามปากกา ที่ Frederic Dannay และ Manfred Bennington Lee ใช้ร่วมกัน พวกเขาทั้งสองคนเป็นลูกพี่ลูกน้องที่ช่วยกันเขียนนิยายสืบสวนเกือบ 40 เรื่อง โดยส่วนใหญ่จะมีเอลเลอรี่ ควีน เป็นตัวละครหลัก
จุดเด่นของเอลเลอรี่ ควีน คือจะเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ร่วมไขคดีอย่างตรงไปตรงมา โดยจะให้เบาะแสและรายละเอียดในครึ่งแรก ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเปิดเผยคำตอบในครึ่งหลัง
นอกจากนี้ ทั้งสองคนยังร่วมกันก่อตั้งนิตยสาร Ellery Queen’s Mystery Magazine ในปี 1941 ซึ่งจัดเป็นนิตยสารหัวสำคัญของงานเขียนแนวรหัสคดีในอเมริกาที่ส่งเสริมผลงานของนักเขียนหน้าใหม่ นิตยสารดังกล่าวยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
———-
Anthony Berkeley
แอนโทนี บาร์ลีย์ มีผลงานชิ้นโบแดงคือเรื่อง เดอะพอยซันด์ช็อกโกแลตเคส ที่ได้รับการกล่าวขวัญด้านการไขคดีหลายรูปแบบผ่านมุมมองของตัวละครหลายตัวในเรื่อง
เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Detection Club ในปี 1930 สโมสรสำหรับให้นักเขียนนิยายสืบสวนชาวอังกฤษพบปะสังสรรค์และทำความรู้จักกัน แรกเริ่มนั้นมีสมาชิกราว 20 กว่าคน และจะใช้วิธีการเชิญเข้าร่วมกลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่ว่าใครสนใจจะเป็นสมาชิกก็สามารถสมัครเข้ามาได้เลย
สโมสร Detection Club ยังคงมีดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน
Ryūnosuke Akutagawa
ทั้งที่ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ความจริงกลับเปลี่ยนไปได้หลายแบบแล้วแต่ว่าใครเป็นผู้เล่า
หากพูดถึงนิยายที่มุมมองในเรื่องจะเปลี่ยนไปตามการเล่าเรื่องของตัวละครแล้วล่ะก็ จะต้องนึกถึงนิยายเรื่อง ‘ในป่าละเมาะ’ หรือชื่อที่คุ้นเคยกว่าคือ ‘ราโชมอน’ ของริวโนะสุเกะ อะกุตางาวะ
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เริ่มมีคนสนใจการนำเสนอเนื้อเรื่องในแนวคิดว่า นักบรรยายไม่ใช่ผู้น่าเชื่อถือ เพราะนักอ่านเริ่มสงสัยในอำนาจอันเด็ดขาดของผู้บรรยายซึ่งอาจจะไม่ได้เล่าความจริงเสมอไป โดยก่อนหน้านั้น ผู้อ่านทำได้เพียงเชื่อในสิ่งที่เขียนในหนังสือ
‘ในป่าละเมาะ’ เขียนขึ้นในปี 1922 ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของงานเขียนยุคแรกๆ ที่ใช้ ‘กลวิธีมีผู้บรรยายที่เชื่อถือไม่ได้หลายคน’ เพื่อดำเนินเรื่อง ทำให้ผู้อ่านต้องมองหาความจริงจากสิ่งที่ผู้บรรยายจงใจไม่พูดถึงด้วย
———-
Edogawa Rampo
เอโดงาวะ รัมโป เป็นนามแฝงของทาโร ฮิราอิ นักเขียนนิยายที่มีส่วนในการพัฒนาวงการนิยายสืบสวนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ดูจากนามแฝงที่ใช้ก็น่าจะพอเดาได้ว่านักเขียนที่เขาชื่นชอบคือใคร นักเขียนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฮิราอิก็คือ เอ็ดการ์ แอลลัน โพ นั่นเอง
ตัวละครที่โด่งดังของเขาคือยอดนักสืบอาเคจิ โคโกโร ที่มักเข้าไปมีส่วนพัวพันในคดีฆาตกรรมหรือโจรกรรม แต่สิ่งที่โดดเด่นในผลงานของรัมโปคือบรรยากาศลึกลับสยองขวัญและการนำเสนอด้านมืดของมนุษย์ เขาจะเน้นการบรรยายความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของตัวละคร รวมถึงฉากที่น่าสยดสยอง
ชื่อของเอโดงาวะ รัมโป ยังถูกนำไปตั้งเป็นชื่อรางวัลเพื่อมอบให้นักเขียนนิยายสืบสวนหน้าใหม่ รวมถึงถูกนำไปตั้งเป็นชื่อตัวละครนักสืบจิ๋วในมังงะที่ทุกคนรู้จักดีอย่าง เอโดงาวะ โคนัน
Fukami Reiichiro
นักอ่านชาวไทยคงไม่คุ้นหูชื่อของ ฟุคามิ เรอิจิโร แต่เขาเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานตีพิมพ์แล้ว 23 เรื่อง โดยล้วนแล้วแต่เป็นนิยายสืบสวนทั้งสิ้น ทั้งยังได้รับฉายาว่าเป็นผู้นำวงการนิยายสืบสวนสอบสวนขนานแท้ของญี่ปุ่น
สามสิ่งที่เรอิจิโรต้องการนำเสนอในผลงานของเขาได้แก่ เนื้อเรื่อง ความรู้ และเรื่องลึกลับ สาเหตุมาจากที่เขาอยากให้ผู้อ่านได้สนุกกับองค์ประกอบทุกอย่างในเวลาเดียวกัน นอกจากอยากทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหวอด้วยการดำเนินเรื่องแล้ว เขาก็ไม่อยากให้ใครเดาทางการเขียนถูกด้วย
ถึงแม้จะมุ่งมั่นกับรายละเอียดหลายอย่าง เรอจิโรก็ยังสามารถเขียนผลงานด้วยความเร็วที่ไม่ธรรมดา นั่นคือเดือนละ 1 เล่ม แถมแต่ละเรื่องยังเป็นคนละสไตล์ อีกทั้งยังหักมุมนักอ่านอีก วิธีการทำงานก็ไม่เหมือนใครคือมักจะเขียนผลงานหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน เคล็ดลับที่เขาเล่าให้ฟังราวกับเป็นเรื่องง่ายคือ
“ผมจะตัดสินใจว่าพรุ่งนี้จะเขียนเรื่องไหนก่อนเข้านอน พอตื่นมาก็จะตั้งสมาธิกับเรื่องนั้นเพียงอย่างเดียว เมื่อเขียนถึงช่วงค่ำจนหมดแรงแล้วก็จะรีเฟรชโดยการคิดถึงอีกเรื่องที่จะเขียนวันพรุ่งนี้ ตั้งตารางหมุนเวียนกันไป ดูเหมือนการเขียนพร้อมกันทีเดียว 3 เรื่องจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับผม”
‘Mystery Arena กลเกมมรณะ’ เป็นผลงานลำดับที่ 13 และได้รับรางวัลอันดับ 1 จาก ‘10 สุดยอดนิยายสืบสวนสอบสวนขนานแท้’ ในปี 2015
-
Product on saleMystery Arena กลเกมมรณะ
฿399฿339
แท็ก
Related Content
คุณกำลังทำงานตามเข็มนาฬิกา เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดอยู่หรือเปล่า?
ศตวรรษที่ 21 คงเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนกังวลมากที่สุดว่าเรา…
มานิตา ส่งเสริม ผู้สร้างจุดกำเนิดภาพปก Origin Story
“เนื้อเรื่องของหนังสือ Origin Story จะพูดถึงจุดกำเนิดขอ…
“สิ่งที่หลงเหลือไว้ในจักรวาล (Bewilderment)” ความมหัศจรรย์แห่งจักรวาล ความสำคัญของธรรมชาติ ความอบอุ่นของครอบครัว
เรื่องราวชีวิตอันอบอุ่น เศร้าซึ้ง ตรึงใจ ของ ‘ทีโอ เบิร…