ถาม-ตอบ เรื่องซึมเศร้าที่ทุกคนสงสัย

Published : มิถุนายน 20, 2023 | Blog | Editor :

จางหมิ่นจู้เขียนหนังสือ “อย่าบอกให้สู้อีกได้ไหม เพราะฉันอาจไม่มีวันหายดี” เพื่อให้ความรู้และให้กำลังใจผู้ที่เผชิญกับโรคซึมเศร้าเช่นเดียวกับเธอ และนี่คือคำถามเกี่ยวกับ #โรคซึมเศร้า ที่มาพร้อมคำตอบซึ่งคุณอาจเคยสงสัยหรือเข้าใจผิด

…แด่จิตวิญญาณที่ทุกข์ทน และทุกคนที่อยากเข้มแข็งขึ้น

Q : คนเป็นโรคซึมเศร้าแปลกแยกจากสังคม ?​

A : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ใช่คนส่วนน้อยที่แปลกแยก จากการสำรวจประชาชนไต้หวันกว่าสองหมื่นคนของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัยไต้หวัน เมื่อปี 2022 พบว่า 8.9% ของประชาชนอายุ 15 ขึ้นไปมีภาวะซึมเศร้าระดับกลางขั้นไป ประมาณได้ว่า มีคนไต้หวันกว่า 1 ล้านคนที่มีภาวะซึมเศร้า และอยู่ในระดับรุนแรงถึง 5.2% ขณะที่มีเพียง 2.3% เท่านั้นที่ได้เข้ารับการรักษา

ส่วนสถิติในประเทศไทยพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากกว่า 1 ล้านคน

ความกดดันเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า การดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันที่มีแรงกดดันสูงทำให้มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ากันได้ทุกคน มันจึงไม่ได้เป็นเพียง “โรคที่มาพร้อมความเจริญแห่งศตวรรษ” แต่ยังได้รับการขนานนามว่าเป็นไข้หวัดทางจิตใจ

และมากกว่าอาการป่วย คือ มีผู้ป่วยโรคนี้ฆ่าตัวตายในเปอร์เซนต์ที่สูงกว่าคนไม่ได้ป่วยอย่างมาก

Q : กินยารักษาหายได้เหมือนโรคทั่วไป ?

A : โรคซึมเศร้าดูคล้ายกับโรครื้อรังอย่าง ความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวาน หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดโรคก็จะยิ่งทำให้อาการของโรครุนแรง แต่หากรับประทานอาหารและใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะก็จะลดโอกาสการกำเริบของโรค

สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะไม่ได้มีเพียงแค่ยาที่ใช้ควบคุมอาการหรืออาหาร แต่ต้องอาศัยวิธีคิดที่เป็นประโยชน์สุขภาพกายและใจด้วย หมอจิตวิทยาที่ดีจะช่วยทั้งเรื่องยาและให้คำปรึกษาเรื่องจิตใจ เพื่อ “บรรเทา” ความเจ็บปวด

นี่คือหนทางอันยาวไกล แต่แม้จะไม่สามารถหายขาดได้ในทีเดียว ด้วยยา ที่ปรึกษาที่ดี สังคมที่โอบรับ ครอบครัวที่พยายามทำความเข้าใจ และการเปิดใจเพื่อฝึกฝนจิตใจของตัวเอง จะช่วยทำให้โรคนี้ค่อยๆ บรรเทาจนดีขึ้น กระทั่งสามารถปลดปล่อยตัวเองได้ในที่สุด

Q : สาเหตุมาจากนิสัยส่วนตัว ?

A : โรคซึมเศร้าเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น อยู่ในสิ่งแวดล้อมกดดันสูงเป็นเวลานาน บาดแผลทางใจ สภาพแวดล้อมที่เติบโต ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเลี้ยงดูของครอบครัว วัฒนธรรมของสังคม ตกงาน ย้ายบ้าน เจ็บป่วยร้ายแรง คนรักเสียชีวิต ถูกบูลลี่ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกระทำรุนแรง​ ฯลฯ ล้วนเป็นสาเหตุได้ทั้งหมด

ฉะนั้น คนปกติกับผู้ป่วยจิตเวชไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ในความจริงมันดูเหมือน “สเปกตรัม” แถบหนึ่งมากกว่า ทุกคนต่างกระจายอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันบนสเปกตรัม เมื่อคนใดเกิดภาวะผิดปกติทางใจที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมาก ก็สามารถบรรเทาได้ด้วยการรักษานั่นเอง

Q : ฝึกนิสัยร่าเริงก็อาจจะดีขึ้น ?

A : ไม่จริง เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะสูญเสียความสามารถในการกำกับอารมณ์ไป เช่น จางหมิ่นจู้ผู้เขียน ‘อย่าบอกให้สู้อีกได้ไหม เพราะฉันอาจไม่มีวันหายดี’ เล่าประสบการณ์ของเธอว่า เธออาจร้องไห้จะเป็นจะตายแบบเกินกว่าเหตุ เพียงเพราะหกล้ม ในสถานการณ์แบบนั้นคนทั่วไปจะร้องไห้เพราะความเจ็บปวด แต่เธอจะรู้สึกว่า มีคลื่นความเศร้าขนาดมหึมากำลังถาโถมอยู่ในใจ คิดว่าตัวเองโชคร้าย ทำไมเมื่อบาดเจ็บถึงไม่มีใครช่วย ไม่มีใครรักฉัน อยู่ไปก็ไร้ค่า ฯลฯ

การตอบสนองทางอารมณ์ที่รุนแรงเกินเหตุเช่นนี้คือ ความรู้สึกภายในใจผู้ป่วย บางเหตุการณ์อาจทำให้สภาพจิตใจดิ่งไปจนถึงความคิดอยากฆ่าตัวตาย

อย่างนึงที่จิตแพทย์บอกจางหมิ่นจู้เอาไว้ คือ ควรหาแรงสนับสนุนทางสังคมไว้ด้วย หรือก็คือ เครือข่ายสังคมที่ช่วยเหลือคุณได้ในยามที่คุณเผชิญหน้าความลำบาก เช่น เมื่อคุณเกือบสอบตกวิชาแคลคูลัส แล้วรูมเมตของคุณเขียนโน้ตว่า “สู้ๆ” เหน็บไว้ให้ในหนังสือ หรือ เมื่อเพื่อนของคุณฝึกทำโจทย์คณิตเป็นเพื่อนคุณในยามดึก เป็นต้น

Q : เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ?​

A : เปิดใจ ทำความเข้าใจ และแบ่งปันความรัก

ทุกคนเคยเจอความเจ็บปวดและความทรงจำเกี่ยวกับคนที่ทำร้ายมักฝังลึก บางครั้งเมื่อได้พบคนที่มีลักษณะคล้ายกัน จึงเกิดความรู้สึกต่อต้าน แม้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะเป็นการตอบสนองทางสรีรวิทยาที่ปกติ แต่ก็ต้องเตือนตัวเองว่าควรเปิดใจ นี่เป็นคนละสถานการณ์กัน เป็นคนละคนกัน ไม่ควรปล่อยให้ประสบการณ์ในอดีตมาล้อมกรอบและกำหนดจุดยืนล่วงหน้า

พูดง่ายๆ คือ ในเมื่อคุณยังไม่รู้จักคนคนนั้นก็อย่าเพิ่งตั้งแง่ว่า เขาจะต้องเป็นแบบไหน เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากที่คุณจะเสียโอกาสในการคบหาเพื่อนดีๆ คนหนึ่งไป

คุณสามารถทำความเข้าใจ หรืออาจไม่ได้เข้าใจเขาทั้งหมด แต่ก็สามารถเคารพว่าทุกคนสามารถยืนหยัดในความคิด และมีจุดยืนเป็นของตัวเอง ซึ่งจะช่วยทำให้มีโอกาสเห็นอกเห็นใจทั้งอีกฝ่ายและเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วย

และจะนำไปสู่การช่วยเหลือกันและกัน ดังที่ จี. ซี. โฮแมนส์ นักสังคมวิทยาได้เสนอ “ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนทางสังคม” คือ พฤติกรรมที่แสดงออกมาขณะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นคือการซื้อขายแลกเปลี่ยนแบบหนึ่ง โดยแต่ละคนแสดงออกทำเพื่อให้ได้รับรางวัลและหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ ทุกคนมักพยายามลดต้นทุน และเพิ่มผลกำไร ทั้งยังเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันภายใต้หลักความเสมอภาค

กล่าวคือ ในบางแง่มุมการคบหากันด้วยการเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน หรือช่วยเหลือกันและกันจึงสำคัญมากนั่นเอง

แท็ก


Related Content