ชวนคิดและคุยกับ โดม-ธิติภัทร นักจิตวิทยาจากเพจ he, art, psychotherapy ผู้เชื่อว่าปลายทางของการสำรวจหัวใจคือการอยู่กับปัญหาในชีวิตได้อย่างเข้าใจและมีความสุข
Published : พฤษภาคม 8, 2023 | Blog | Editor :
ชวนคิดและคุยกับ โดม-ธิติภัทร นักจิตวิทยาจากเพจ he, art, psychotherapy ผู้เชื่อว่าปลายทางของการสำรวจหัวใจคือการอยู่กับปัญหาในชีวิตได้อย่างเข้าใจและมีความสุข
==================
เคยไหมที่รู้สึกจมจ่อมอยู่กับปัญหาคาราคาซังในใจ แก้ยังไงก็ไม่หาย คิดยังไงก็ไม่ตก เป็นปัญหาที่จะวนกลับมาขัดวางเสมอเวลาจะเริ่มทำอะไรใหม่ๆ คล้ายเป็นกับดักทางความคิดที่ฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ – แล้วต้องทำอย่างไรล่ะ ปัญหานั้นถึงจะหายไป ชีวิตจะได้ก้าวต่อไปได้อย่างราบรื่น
“มันต้องทำงานกับตัวเอง สำรวจค้นหาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ว่าต้นเหตุของปัญหานั้นคืออะไร แล้วทำความเข้าใจกับมัน ทำความเข้าใจกับอารมณ์ตัวเอง”
หนุ่มผมยาวมาดเซอร์ตรงหน้าเรากล่าวอย่างกระฉับกระเฉง ราวกับพูดประโยคราวๆ นี้มานับครั้งไม่ถ้วน – ใช่สิ เมื่อสิ่งที่เขาทำทุกๆ วันคือการให้คำปรึกษาในฐานะนักจิตวิทยา และไม่ว่าคนจะเข้ามารับคำปรึกษากับเขาด้วยปัญหาอะไร เขาก็จะเริ่มต้นอธิบายคนเหล่านั้นด้วยประโยคราวๆ นี้เสมอ
ชื่อของเขาคือ โดม ธิติภัทร นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ he, art, psychotherapy มือกลองของวง Summer Stop ค่าย Smallroom และนักศึกษาปริญญาโท Art Psychotherapy ที่ Goldsmiths, University of London
โดมบอกว่า สังคมทุกวันนี้นอกจากจะทำให้คนเครียดหรือรู้สึกว่ามีปัญหาทางอารมณ์แล้ว มันยังใจร้ายขึ้นไปอีก ด้วยการไม่เหลือเวลาให้คนเหล่านั้นได้ใช้ไปอย่างช้าๆ กับการคิดและหาวิธีแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเอง เมื่อเราต้องตื่นเช้าออกไปทำงานแล้วกลับบ้านในเวลาค่ำ เวลาที่เหลือน้อยนิดก็อยากจะใช้ไปกับการพักผ่อน ใครจะไปอยากเครียดกับการแก้ปัญหาในใจ
แต่ถ้าไม่แก้ ปัญหานั้นก็จะยังอยู่ และมันก็จะสกัดขัดขวางเราอยู่จากข้างใน โดยไม่ให้เรารู้ตัว โดมจึงเชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตาม อายุเท่าไร ประกอบอาชีพอะไร ก็ควรจะต้องสำรวจหัวใจตัวเองเพื่อหาเจ้าต้นตอของปัญหานั้น แล้วเริ่มทำความเข้าใจกับมัน อาจไม่ใช่เพื่อชำระล้างให้หายไป แต่เพื่อจะอยู่กับมันได้อย่างเข้าอกเข้าใจและมีความสุข
แต่เรื่องของหัวใจนั้นลึกล้ำและกว้างใหญ่กว่ามหาสมุทร ยังมีอีกหลายแง่มุมที่เราอยากรู้ เลยชวนโดมมาคิดและคุยแบบยาวๆ ในหลายๆ มิติ ตั้งแต่สิ่งที่นักจิตวิทยาอย่างเขาทำ โลกในวัยเด็กที่ส่งผลมาถึงตอนโต ไปจนถึงเรื่องของลมหายใจ แต่คุยกันสองคนมันก็เหงาๆ เลยขอชวนทุกคนมาล้อมวงลงอ่านบทสนทนานี้ไปด้วยกัน
อ้อ แต่ถ้าจะให้ดี อยากให้คุณชวนเพื่อนสนิทที่ชื่อว่า ‘ปัญหา’ มาด้วยนะ มันคงจะยอดเยี่ยมไปเลยถ้าการทำความเข้าใจกันและกันของคุณกับเขาเริ่มขึ้นหลังบทสนทนานี้จบลง
“คนเรายังไงมันมีอคติอยู่แล้ว ต่อให้เป็นคนที่ทำอาชีพนี้ก็เหอะ แต่ถ้ารู้เท่าทัน แม้จะมีอคติ เราก็จะฉุกคิดได้ทัน”
====================
“เรียกว่านักจิตวิทยาน่าจะเซฟสุด” โดมเริ่มเล่า เมื่อเราถามเขาว่าจะนิยามสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่าอะไร “ส่วนตัวเคยเรียกตัวเองว่านักจิตวิทยาปรึกษา แต่ไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาของเราที่ธรรมศาสตร์อีกที เขาบอกจริงๆ ก็เรียกได้แหละ แต่ถ้าให้ดีเรียกว่านักจิตวิทยาก็พอ”
“คือนักจิตวิทยามีหลายสาย ในไทยกับเมืองนอกก็ไม่เหมือนกัน คนที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักจิตวิทยาได้ ไม่ว่าจะสายไหน ต้องไปสอบเพื่อให้ผ่านมาตรฐาน และได้ใบรับรองวิชาชีพ เพื่อจะเรียกตัวเองได้ว่าทำอาชีพนั้นๆ จริงๆ แต่ในไทย มันจะมีความหยวนๆ อยู่ ด้วยความที่มันไม่มีสมาคมของแต่ละสายมารับรองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มันจึงยังใช้ความเข้าใจแบบไทยๆ อยู่ในหลายมิติ”
แล้วสิ่งที่โดมทำในฐานะนักจิตวิทยา มีอะไรบ้าง “เราประกาศไปว่า มีบริการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาออนไลน์ กับใครก็ตามที่รู้สึกว่าต้องการคนช่วยแก้ปัญหาในชีวิต ไม่ถึงกับบำบัดหรือรักษา เรียกว่าเยียวยาดีกว่า ช่วยให้เขาดีขึ้น ให้เขามีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าเขาจะเข้ามาด้วยเป็นประเด็นอะไรก็ตาม”
“ถ้าถามว่า ต้องมีคุณสมบัติอะไรถึงจะเป็นนักจิตวิทยาได้ อย่างแรกคือต้องเป็นคนที่เปิดรับ เป็นผู้ฟังที่ดี ใจเย็นและมั่นคงทางอารมณ์ รู้เท่าทันตัวเอง จัดการอารมณ์ตัวเองได้ มีทักษะการสื่อสาร”
แน่นอนว่าเราต้องสนใจคำว่า ‘การรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง’ มากกว่าคำอื่น ซึ่งถ้ามันคือหนึ่งในคุณสมบัติที่ว่า นั่นหมายความว่าโดมต้องก้าวข้ามปมบางอย่างในจิตใจตัวเองให้ได้ก่อน จึงจะประกอบอาชีพนี้ได้ใช่ไหม “อาจจะไม่ต้องถึงขั้นนั้น ถ้าทำได้ก็ดี (หัวเราะ) อย่างเมืองนอก การเรียนปริญญาโทเพื่อเอามาตรฐานวิชาชีพ ระหว่างเรียนเขาก็ให้เราบำบัดไปด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าเรายังมีประเด็นอะไรที่ก้าวข้ามไม่ได้บ้าง เพราะว่าถ้าเราไม่รู้ แล้วเรื่องที่ผู้รับบริการเอามาคุยกับเรา ดันเป็นเรื่องที่ trigger หรือจุดชนวนเราพอดี ก็อาจทำให้เราทำงานกับเขาไม่ได้”
“การรู้เท่าทันตัวเองจึงอาจจะหมายความว่า รู้ว่า ณ ขณะนี้เรากำลังรู้สึกอะไร และเรากำลังตัดสินเขาอยู่หรือเปล่า เพราะในการทำงานเราต้องลองเอาตัวเองไปยืนในจุดเดียวกับที่เขายืน มองโลกแบบเดียวกับที่เขามอง ลองดูซิว่าเขาเจออะไรมา ทำไมเขาถึงคิดและทำอย่างนี้ ถ้าเรามองเหตุการณ์ด้วยมุมมองของเรา ใช้ประสบการณ์ของเราไปจับ มันก็จะไม่เกิดความเข้าใจ เราต้องรู้เท่าทันว่า เฮ้ย เรากำลังเอาความคิดเราไปตัดสินเขาอยู่หรือเปล่า ซึ่งคนเราอะ ยังไงมันมีอคติอยู่แล้ว ต่อให้เป็นคนที่ทำอาชีพนี้ก็เหอะ แต่ถ้ารู้เท่าทัน แม้จะมีอคติ เราก็จะฉุกคิดได้ทัน”
งั้นสิ่งที่โดมทำก็คือการหักล้างประโยคที่ว่า ‘ถ้าคุณไม่เป็นฉัน คุณก็ไม่มีวันเข้าใจหรอก’ ใช่ไหม “มันก็ไม่เชิง ที่แน่ๆ คือมันจะไม่ถึงขั้นไปเข้าสิงร่าง (หัวเราะ) แค่ลองไปยืนในจุดเดียวกับที่เขายืน”
“เด็กคือวัยแห่งการสำรวจ และไม่ว่าเจออะไรในโลกภายนอก เขาก็จะเอามันเข้าไปเก็บในโลกภายในใจตัวเอง แล้วใช้เป็นพิมพ์เขียวสำหรับการออกไปใช้ชีวิตจริงๆ”
====================
โดมเล่าว่ามนุษย์เรามีสิ่งที่เรียกว่า ปฏิกิริยาตอบสนองซ่อนอยู่ในตัวเอง และมันจะถูกนำออกมาใช้อย่างอัตโนมัติในการตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง หรือแม้แต่ตัดสินคนหนึ่งจากรูปลักษณ์ภายนอก
“ปฏิกิริยานี้เกิดจากประสบการณ์ของตัวเอง บางทีเราไม่รู้ตัวหรอกว่ากำลังคิดอะไร แต่รู้สึกไปแล้วว่าคนนี้ดูน่ารัก คนนี้ดูน่ากลัว โดยไม่รู้หรอกว่าไอ้ความรู้สึกแบบนี้มันเกิดจากอะไร หรือบางที ก็มาจากจิตใต้สำนึกเลย เวลาเราเจอใครครั้งแรกแล้วก็รู้สึกถูกโฉลกทันที หรือทำไมเจอคนนี้ครั้งแรกก็ไม่ชอบหน้าแล้ว นี่คือระดับจิตใต้สำนึก ซึ่งอาจจะติดตัวมาตั้งแต่เด็ก”
แล้วทำไมตอนเราเด็กๆ เวลาเจออะไรที่ส่งผลต่อจิตใจ มักจะจำแม่นกว่าสิ่งที่เจอในตอนโต “ไม่แน่ใจว่ามันจะถูกต้องเสมอไปไหม แต่ถ้าบอกว่า เราจะจดจำบางเหตุการณ์ในวัยเด็กได้แม่น อันนี้ใช่ ทั้งประสบการณ์ที่ดีมากๆ และเลวร้ายมากๆ สามารถอยู่กับเราไปได้ตลอดชีวิต แต่ก็ไม่ใช่ทุกประสบการณ์หรือทุกความทรงจำ”
“มันมีทฤษฎีที่อธิบายอยู่ว่า เด็กจะมีโลกอยู่สองใบ คือโลกข้างนอก โลกที่เราอาศัยอยู่นี่แหละ กับโลกข้างในจิตใจเขา ซึ่งแยกกัน เป็นคนละโลกกัน ทีนี้ วัยเด็กคือวัยแห่งการสำรวจ เขาก็จะสำรวจไปเรื่อยๆ และไม่ว่าเจออะไรในโลกภายนอก เขาก็จะเอามันเข้าไปเก็บในโลกภายใน แล้วใช้มันเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการออกไปใช้ชีวิตจริงๆ”
“เช่นถ้าวัยเด็กเราเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายมากๆ เราก็จะคิดไปว่าโลกนี้มันช่างโหดร้าย ไว้ใจใครไม่ได้เลย ต้องพึ่งตัวเอง ก็เพราะวัยเด็กเราเจอประสบการณ์ไม่ดีมา พิมพ์เขียวในโลกภายในที่เราใช้เป็นกรอบมองโลกเลยเป็นอย่างนั้น และมันก็อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา แทบทั้งชีวิต”
“เป็นเหตุผลว่าทำไมการเลี้ยงดูของพ่อแม่จึงสำคัญมากๆ กับเด็ก เพราะถ้าเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่อบอุ่นหรือการตอบสนองที่ดี ได้ทั้งความรักและเวลา เด็กก็จะคิดว่า เออ โลกนี้น่าอยู่ ไว้ใจคนได้ แต่ถ้าเด็กร้องไห้เรียกหาพ่อแม่เท่าไรก็ไม่มา เขาก็จะคิดว่าโลกนี้น่ากลัว สิ้นหวัง ฉันจะไว้ใจใครได้อีก โตมาเลยกลายเป็นคน insecure เพราะเราทุกคนต่างเป็นผลผลิตจากอดีต”
ถ้างั้น เวลาให้คำปรึกษากับคนที่มีปัญหา ก็จำเป็นต้องสำรวจให้ลึกลงไปถึงวัยเด็กเสมอไปใช่ไหม “บางทฤษฎีบอกว่า ทุกปัญหาล้วนเกิดจากวัยเด็ก แต่บางทฤษฎีก็บอกว่าไม่ต้องไปแตะถึงวัยเด็กก็ได้ อยู่ที่ here and now ทำงานแค่กับปัจจุบันก็พอ ซึ่งมันก็กลับมาที่คำว่า ‘ไม่เสมอไป’ แต่ถามว่าประสบการณ์วัยเด็กมีอิทธิพลไหม…มี แต่การแก้ปัญหาอาจไม่ต้องขุดคุ้ยหรือพากลับไปเผชิญหน้ากับบาดแผลในอดีตเมื่อนานมาแล้วทุกเคสก็ได้”
แล้วปมที่เกิดจากอดีตในวัยเด็ก กับปมที่เกิดจากอดีตเมื่อเร็วๆ นี้ อันไหนมัดแน่นและแก้ยากกว่ากัน “เราเชื่อว่าปมวัยเด็กแก้ยากกว่านะ เพราะเรื่องที่สะสมมานาน ก็ย่อมต้องใช้เวลาทำงานมากกว่า”
“แยกความจริงกับความคิดออกจากกันก่อน เพราะมันไม่ได้ตรงกันเสมอไป”
====================
การทำงาน เป็นคำที่โดมพูดถึงบ่อยมากระหว่างการสนทนานี้ เขาบอกเราว่ามันหมายถึงการพยายามสำรวจหัวใจตัวเอง เพื่อก้าวข้ามสิ่งที่เป็นขวากหนามขวางทางให้ต้องเป็นทุกข์ หรือไม่สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้สำเร็จ
“มันคือการสำรวจให้ลึกที่สุดจนกว่าจะเจอประสบการณ์ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เช่นหลายคนถูกพ่อแม่ปลูกฝังมาว่าอย่าลองทำอันนั้นเลย เดี๋ยวเจ็บตัว ทำก็ไม่สำเร็จหรอก เด็กก็อาจจะมองว่าโลกน่ากลัวทันที เพราะอย่างที่บอกว่าเราใช้สิ่งที่อยู่ในโลกภายในเป็นกรอบมองโลกภายนอก”
“ในอีกทางหนึ่ง เราก็ใช้เพื่อมองตัวเองด้วย เช่นที่ยกตัวอย่างมา เด็กเขาก็อาจจะคิดว่าตัวเองอ่อนแอ ไม่เก่ง หรือไม่มีคุณค่าเพียงพอที่จะทำ ไม่ใช่คนที่ถูกรักจากครอบครัว ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสังคมหรือในออฟฟิศที่ตัวเองอยู่ กลายเป็นว่าเขาก็จะไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จากปมที่ฝังใจมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ถามว่าแล้วเราเปลี่ยนตัวเองได้ไหม กำจัดไอ้สิ่งที่ขัดขวางอยู่ภายในตัวเองได้ไหม ได้ ต้องมาทำงานกัน”
“ถ้าอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก อาจจะต้องทำงานให้เกิดความตระหนักก่อนว่า สิ่งนี้เกิดจากอะไร เข้าใจมันก่อนว่า อ๋อ มันเป็นอดีตที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับปัจจุบัน ถ้าเราไม่เก่ง ไม่คู่ควรกับงานอย่างที่เราเชื่อจริงๆ ทำไมหัวหน้าถึงรับเรามา ทำไมเขาถึงให้เรารับผิดชอบในงานสำคัญ ถ้าไม่ใช่เพราะเขาเห็นความเก่งในตัวเรา นั่นหมายความว่ากรอบที่ใช้มองโลก หรือพิมพ์เขียวในตอนเด็กๆ มันไม่ได้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันเสมอไป”
“แยกความจริงกับความคิดออกจากกันก่อน เพราะความจริงกับความคิดไม่ได้ตรงกันเสมอ ความคิดเราถูกหล่อหลอมมาจากประสบการณ์ทุกอย่างที่ผ่านมา ซึ่งมันอาจบิดเบือนจากสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ตรงหน้าเรา ณ ปัจจุบันได้ พอแยกได้แล้วก็ค่อยสำรวจตัวเอง”
แล้วถ้าทำยังไงก็ไม่รู้สักทีว่า อะไรคือสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้ชีวิตเราก้าวไปข้างหน้า จะต้องทำอย่างไรล่ะ “ถ้าไม่รู้ ก็ต้องให้เวลาเพื่อทำงานกับตัวเอง ขั้นแรกต้องเกิดการตระหนักก่อน ถ้าไม่ตระหนัก ยังไงก็ไม่รู้ เช่น ถ้าทำอะไรก็ไม่สำเร็จ แต่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา ก็อาจจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ”
“ซึ่งไลฟ์สไตล์คนเมืองก็ไม่ได้เอื้อให้คนมีเวลามานั่งตระหนักถึงปัญหาของตัวเองขนาดนั้น เราตื่นเช้าออกไปทำงาน ถึงบ้านก็ค่ำ เหลือเวลานิดหน่อย ก็ไม่อยากจะเครียดแล้ว อยากแค่นอนดูเน็ตฟลิกซ์ เพราะการทำงานกับตัวเองใช้พลังงานเยอะ การถามตอบกับตัวเองในเรื่องที่เป็นบาดแผล มันเครียด เราไม่อยากทำหรอก เข้าใจว่าเป็นเรื่องยากสำหรับคนเมืองที่ต่างใช้ชีวิตอยู่ในระบบทุนนิยม แต่เงื่อนไขมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้าเลือกที่จะไม่ทำงานกับตัวเอง ไอ้ปัญหาคาราคาซังนี้ก็จะยังอยู่ ยังไงก็เลี่ยงไม่ได้ เป็นราคาแพงที่ต้องจ่าย”
อ่า…งั้นมันก็คือทุนนิยมแบบหนึ่ง “ใช่ (หัวเราะ)”
“การที่เราเอาความจริงไปกระแทกหน้า มันคือการทำให้เขายอมจำนน ไม่ใช่ยอมรับ การยอมรับคือการได้มองจากทุกๆ มุมอย่างครบถ้วนเท่าที่เขาจะมองได้”
===================
โดมบอกว่าในการทำงานกับตัวเอง ส่วนที่ยากและต้องใช้เวลากับมันมากหน่อยคือการยอมรับตัวเองว่ากำลังเจอปัญหา ที่หลายคนยังก้าวข้ามปมบางอย่างในใจชีวิต ก็เพราะยังยอมรับความจริงไม่ได้นี่แหละ “การยอมรับในปัญหาก็มีสเตจของมันนะ ต้องให้เวลา ส่วนมากจะไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะยอมรับได้เลยว่าเรากำลังเจอปัญหาอะไร”
“เช่น ปัญหาความรัก สมมติมีคนโดนเทสดๆ ร้อนๆ แล้วมาขอคำปรึกษา ถ้าเราบอกเขาว่ามูฟออนเถอะ ยังไงก็ไม่มีหวังแล้ว ใช่แหละว่าอันนี้คือความจริงที่เขาควรยอมรับ แต่ในเมื่อมันยังเร็วไปที่เขาจะยอมรับมันได้ ถ้าเราเอาความจริงนี้ไปกระแทกหน้าเขาแล้วบอกว่า มึง เขาไม่กลับมาแล้ว มันจะไม่ทำให้เกิดการยอมรับขึ้นมาหรอก สิ่งสำคัญคือต้องให้เวลา และค่อยๆ คิดกับมันว่าอะไรคือปัญหา อะไรคือความจริง”
“ถ้ามาหานักจิตวิทยา เราจะพาเขาเข้าไปในพื้นที่ในการบำบัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยมาก เขาสามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ พูดหรือสื่อสารได้ทุกความคิด เป็นพื้นที่ที่นักวิชาชีพสร้างขึ้นมาให้คนได้สำรวจทุกแง่มุมของตัวเองจริงๆ มีเวลามากพอให้เขาคิดและพูดในทุกๆ เรื่องอย่างไม่เร่งเร้า ฉะนั้นเมื่อมันปลอดภัย มันเป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการสำรวจจริงๆ เขาก็จะเริ่มรู้ว่า เออ ทำยังไงมันก็ไม่ได้ว่ะ เขาไม่มีทางกลับมาแล้ว ความหวังที่เราคิดว่ามีเนี่ย จริงๆ แล้วมันเกิดจากอะไร อ๋อเราสร้างมันขึ้นมาเอง มันไม่มีจริง ความจริงคือเขามีคนใหม่ไปแล้ว”
“อาจารย์ของเราเคยบอกว่า การที่เราเอาความจริงไปกระแทกหน้า มันคือการทำให้เขายอมจำนน ไม่ใช่ยอมรับ เขายังอยากสู้อะ ยังไม่เชื่อ ส่วนการยอมรับคือการได้มองจากทุกๆ มุมอย่างครบถ้วนเท่าที่เขาจะมองได้ สิ่งที่เขาจะยอมรับมันอาจไม่ดีที่สุด แต่มันจะแย่น้อยที่สุด ตามเงื่อนไขของแต่ละปัญหา และเมื่อถึงตอนนั้น เขาก็จะยอมรับความจริงได้ในที่สุดด้วยตัวเอง”
“หน้าที่ของนักจิตวิทยาอย่างเราจึงไม่ใช่การปลอบหรือทำให้เขารู้สึกดีเป็นปลิดทิ้ง แต่คือการพูดความจริง เขาอาจจะเศร้าหรือดาวน์กว่าเดิมก็ได้ แต่เขาจะเข้าใจและยอมรับความเป็นจริง เราไม่ได้ทำให้เขามองเรื่องร้ายให้เป็นเรื่องดี แต่ช่วยให้เขาเข้าใจและอยู่กับเรื่องร้ายๆ ได้ดีขึ้น”
“ขณะที่เราพูดกันอยู่ก็เกิดอดีตใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอนาคตก็คือส่ิงที่ยังไม่เกิด แล้วอะไรคือปัจจุบัน ลมหายใจของเราไง มันคือปัจจุบันที่สุดแล้ว”
====================
“มันมีทฤษฎีหนึ่งของการให้คำปรึกษา ชื่อว่า Mindfulness คือการมีสติ การอยู่กับปัจจุบัน รู้ตัวตลอด คำถามคือแล้วปัจจุบันคืออะไร ระหว่างที่เราคุยกันอยู่ หนึ่งเสี้ยววินาทีที่แล้วก็นับว่าเป็นอดีตไปแล้ว อนาคตก็คือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ขณะที่เราพูดกันก็จะเกิดอดีตใหม่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วอะไรคือปัจจุบัน ลมหายใจของเราไง
“การจะเริ่มทำอะไร มันจึงเริ่มที่ลมหายใจเราหมด เพราะมันคือปัจจุบันที่สุด แล้วมันออกมาจากตัวเอง เราลองจดจ่อกับมันดูซิ ลมหายใจเราเป็นยังไง แล้วพอมันเริ่มนิ่ง ลองคิดถึงสิ่งแวดล้อม มันมีเสียงอะไรบ้าง เสียงแอร์ เสียงขยับตัว เสียงคนเดิน
“บางทีการที่คนเราเป็นทุกข์ เพราะเราคิดถึงเรื่องที่เป็นอดีต เรื่องที่จบไปแล้ว ง่ายๆ เลย โดนคนเหยียบตีน แค้นว่ะ ซึ่งมันคืออดีตนะ เพราะเราโดนเหยียบไปแล้ว แต่ความแค้นยังคงอยู่ และที่เราแค้นก็เพราะเราคิดว่าคนนั้นกวนตีนเราหรือเปล่าวะ ถ้าคิดถึงอดีตในแง่ลบ ก็จะเกิดความรู้สึกในแง่ลบ แต่พออยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงทั้งอนาคตและอดีต ลมหายใจเราไม่บวกไม่ลบนี่ ถ้าคิดถึงลมหายใจก่อน ความรู้สึกลบก็จะคลายลง อันนี้เป็นแบบฝึกหัดเบื้องต้นที่นักจิตวิทยาใช้เลย”
“และความคิดที่ว่า คนที่มาหานักจิตวิทยาเพื่อสำรวจตัวเองเป็นคนบ้า หรือคนซึมเศร้า ไม่จริงเลย เป็นความคิดที่ล้าสมัย เป็นชุดความคิดที่ไม่ได้รับการอัปเดต คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เราไปพูดทุกที่เลยว่าเป็นมายด์เซตที่ควรจะเปลี่ยนและควรทำความเข้าใจ เพราะเอาจริงๆ คือไม่ว่าใครก็ควรจะทำความเข้าใจอารมณ์ตัวเอง ตั้งแต่เด็กยันคนที่ใกล้เสียชีวิต มันมีนักจิตวิทยาที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยซ้ำ เราจะเข้าไปช่วยให้เขาได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างมีความสุข หรือจริงๆ ก็คือกับทุกคน ถ้าเราเข้าใจอารมณ์ตัวเองได้ ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น”
แต่ถ้าทำยังไงก็ยังไม่เข้าใจตัวเองอยู่ดีก็อาจจะต้องพึ่งตัวช่วย เช่นหนังสือ Emotional Agility ของ ซูซาน เดวิด ที่จะช่วยให้คุณมีความคล่องแคล่วทางอารมณ์ รู้เท่าทันความคิดและจิตใจที่เป็นลบของตัวเอง เป็นอิสระจากความคิดนั้นแล้วก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง นี่คือหนังสือที่จะช่วยให้ ‘การทำงาน’ กับตัวเองของคุณเป็นไปอย่างลื่นไหลและเข้าอกเข้าใจมากขึ้น
ถ้าการจะบำบัดจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การหย่อนกายลงอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างช้าๆ ทีละหน้าๆ ก็อาจเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ว่า
แท็ก
Related Content
3 เหตุผล ทำไม ’The Why Cafe’ ถึงช่วยชาร์จแบตในวันที่หมดแรง
3 เหตุผล ทำไม ’The Why Cafe’ ถึงเป็นหนังสือที่จะช่วยชาร…
คาเฟ่สำหรับคนหลง “ภาพยนตร์”
ใน The Why Café นักอ่านคงแทนที่ภาพคาเฟ่ของจอห์นเข้ากับค…
Reading Cure ถ้าคุณเหงา เราอยากให้ลองอ่านหนังสือ
รู้ไหมว่าหนังสือช่วยเชื่อมโยงคนเข้าหากันและทำให้เราเหงา…