กระบวนการของเซน : จัดดอกไม้ พิธีชงชา จัดสวนเซน แต่งบทกวียูอิเงะ

Published : มกราคม 12, 2024 | Blog | Editor :

นี่คือ 4 ประเภทของการรวมเอาศิลปะ งานคราฟต์ ธรรมชาติมาอยู่ด้วยกัน และช่วยสนับสนุนให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนเข้าถึงธรรมะนิกายเซนได้ หรือต่อให้ใครจะไม่ได้หวังเข้าถึงแนวคิดนิกายนี้ การจัดดอกไม้ การร่วมในพิธีชงชา การจัดสวนเซน และแต่งบทกวียูอิเงะ ก็งดงามน่าชมเชยและทำให้เราเข้าใจการใช้ชีวิตที่ดีและมีความสุนทรีย์ได้

1. #จัดดอกไม้

มีภาษิตเซนกล่าวว่า “เมื่อเห็นดอกไม้จงชื่นชมดอกไม้ เมื่อเห็นดวงจันทร์จงชื่นชมดวงจันทร์” แปลว่า ไม่ต้องกังวลกับเรื่องที่ไม่จําเป็นปล่อยให้ใจของคุณท่องไป มอบร่างกายและจิตวิญญาณของคุณให้แก่ธรรมชาติ  

และมันหมายรวมถึง  ‘อิเคบานะ’ หรือ ‘การจัดดอกไม้’ ของคนญี่ปุ่นด้วย 

คำว่า อิเคบานะ มาจากคำผสมระหว่าง ‘อิเครุ’ (การจัด, มีชีวิต) และ ‘ฮะนะ’ (ดอกไม้) รวมกันแล้วจึงแปลว่า ‘การให้ชีวิตแก่ดอกไม้’ หรือ ‘การจัดดอกไม้’ 

การจัดดอกไม้นับว่าเป็นศิลปะคลาสสิกของญี่ปุ่นที่มีความประณีต นำธรรมชาติและมนุษย์มารวมกัน โดยการจัดจะเน้นไปที่ส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ลำต้น ใบ และเน้นที่รูปร่าง เส้น รูปทรง 

การจัดดอกไม้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการชื่นชมแง่มุมต่าง ๆ ของธรรมชาติที่เรามักมองข้ามในชีวิตประจำวัน และทำให้เรามีความอดทนต่อความแตกต่างระหว่างธรรมชาติและการใช้ชีวิต เกิดความผ่อนคลายทั้งจิตใจ ร่างกาย และจิตวิญญาณ 

แม้ว่าอิเคบานะจะแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็มีระเบียบและกฎเกณฑ์บางอย่าง เช่น แนวคิดเรื่องโชคลาภและความชั่วร้ายในการเลือกวัสดุและรูปแบบของการจัด

รูปแบบการจัดดอกไม้ยังแสดงถึงฤดูกาล เช่น ในเดือนมีนาคมที่มีลมแรง การจัดดอกไม้อาจจัดให้มีกิ่งก้านที่โค้งผิดปกติเพื่อให้รู้สึกถึงกระแสลม ส่วนในฤดูร้อน จะใช้ภาชนะใส่ดอกไม้ทรงเตี้ยและกว้างที่มองเห็นน้ำได้ชัดเจน เพื่อทำให้รู้สึกสดชื่น เป็นต้น 

อิเคบานะมีมาตั้งแต่สมัยเฮอัน โดยมีการถวายดอกไม้ที่แท่นบูชาหรือประดับซุ้มของบ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม จุดสูงสุดของอิเคบานะอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 16 ภายใต้อิทธิพลของชาวพุทธและเติบโตขึ้นตลอดหลายศตวรรษ

2. #พิธีชงชา 

พุทธศาสนานิกายเซนมีอิทธิพลต่อการพัฒนาพิธีชงชาของคนญี่ปุ่น 

แต่เดิมพิธีชงชามีความกลมกลืนกับธรรมชาติและการเพาะปลูก กระบวนการในพิธีมักทำให้คนเพลิดเพลินไปกับชาและสภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้น

ในเวลาถัดมา เมื่อพุทธศาสนานิกายเซนนำพิธีชงชามาใช้ พิธีนี้จึงถูกพัฒนาให้เป็นแนวทางปฏิบัติไปสู่การมีสุนทรียศาสตร์ การดื่มชายังช่วยทำสมาธิ 

พิธีชงชาเปิดโอกาสให้ผู้อยู่ในพิธีทำความเข้าใจตัวตน ธรรมชาติ และการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ เรียนรู้และน้อมรับความไม่สมบูรณ์ของชีวิตซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจให้เราทะนุถนอมตัวตนที่อาจจะไม่ขัดเกลาอะไรเลยของเรา ทำให้เราได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริงในช่วงเวลานั้น 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ในทางศาสนาพิธีชงชาถือเป็นอีกก้าวหนึ่งสู่ ‘ซาโตริ’ หรือ ‘การตรัสรู้’ ได้  

นอกจากนี้ ในนิกายเซนยังมีคำว่า ‘โร’ หมายถึง การเปิดเปลือย ไร้การป้องกัน ไม่มีสิ่งใดซ่อนอยู่ 

ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่เปิดบริเวณรอบเรือนน้ําชาที่เรียกว่า ‘โรจิ’ อันเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เราเป็นตัวของตัวเอง กล่าวคือ เมื่อเรากำลังเดินไปยังเรือนน้ําชา เราได้ปลดเปลื้องตัวเองต่อธรรมชาติ โรจิทำให้เราสามารถโยนสิ่งที่ผูกมัดตัวเอาไว้ทิ้งไปเพื่อเปิดเผยธรรมชาติดั้งเดิมของเรา

3. #จัดสวนเซน 

พระชุนเมียว มาซึโนะ ผู้เขียน ‘วางใจให้ไร้กังวล’ เป็นนักจัดสวนเซนผู้โด่งดัง สวนที่เขาจัดเรียกว่า สวนแห้ง อันประกอบด้วยหิน ทรายขาว รวมทั้งพื้นที่ว่างที่สะท้อนความนิ่งอันลึกล้ำ และความสงบที่แผ่ซ่านซึ่งรู้สึกได้เมื่อยืนชมสวนเซน…

ย้อนกลับไปในยุคอาซูกะ แนวคิดสวนญี่ปุ่นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อพ่อค้าชาวญี่ปุ่นได้ชมสวนที่สร้างขึ้นในประเทศจีน และนำเทคนิคพร้อมสไตล์การจัดสวนแบบจีนกลับมายังญี่ปุ่น 

สวนญี่ปุ่นจึงปรากฏตัวครั้งแรกบนเกาะฮอนชู เกาะขนาดใหญ่ตอนกลางของญี่ปุ่น สุนทรียศาสตร์ของการจัดสวนขณะนั้นได้รับอิทธิพลจากลักษณะเฉพาะของภูมิประเทศฮอนชู ได้แก่ ยอดภูเขาไฟที่ขรุขระ  หุบเขาแคบ ลำธารบนภูเขา น้ำตก ทะเลสาบ และชายหาดที่ทำด้วยหินขนาดเล็ก แม้แต่ต้นไม้ก็ยังได้รับอิทธิพลจากดอกไม้และต้นไม้หลากสายพันธุ์จากสี่ฤดูกาลที่แตกต่างกันของเกาะ

สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการจัดสวนถัดมา คือ ศาสนาชินโต 

มีคำภาษาญี่ปุ่นคำหนึ่งที่แปลว่า สวน (นิวะ) มีความหมายว่า สถานที่ที่ได้รับการชำระล้างและชำระให้บริสุทธิ์เพื่อรอการมาถึงของเทพเจ้า 

และศาลเจ้าชินโตที่สร้างไว้สำหรับเทพเจ้าและวิญญาณ ภายในศาลเจ้าก็มีรูปทรงของหินหรือต้นไม้แปลกตา ล้อมรอบไปด้วยกรวดสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ 

หลังจากนั้น ลานกรวดสีขาวและรูปแบบการจัดสวนเช่นนี้ก็ค่อย ๆ กลายเป็นลักษณะเด่นของศาลเจ้าชินโต พระราชวังอิมพีเรียล วัดพุทธ รวมทั้งสวนนิกายเซน เช่น สวนของพระชุนเมียว ไปโดยปริยาย

4. #แต่งบทกวียูอิเงะ

ช่วงต้นปี พระนิกายเซนมีธรรมเนียมต้องแต่งบทกวียูอิเงะ ซึ่งเป็นร้อยกรองแบบจีนว่าด้วยเรื่องความตายเพื่อสะท้อนสภาพจิตใจของตน ธรรมเนียมนี้เลือนหายไปแล้ว แต่พระชุนเมียวคิดว่า ยูอิเงะบางบทก็เหมาะจะเป็นคําพูดสุดท้ายของพระภิกษุ

พ่อของพระชุนเมียวก็ทิ้งยูอิเงะไว้บทหนึ่งว่า 

“ปรับพื้นตรงที่หญ้าหายไป หญ้าจากไปเพื่อให้แผ่นดินบริสุทธิ์ 

แปดสิบเจ็ดปีที่ผ่านมา แปดสิบเจ็ดปีที่ผ่านมานี้

ทําให้กายข้าเหนื่อยล้า เพียงด้วยรับใช้ที่เคนโกะ

ในเซน ชิโฮมุ่งหมายจะเดินบนทางแห่งศรัทธา สู่ความสงบรํางับและสันติ” 

พ่อใส่ชื่อชิโฮของท่านเข้าไปในบทกวีด้วย เช่นเดียวกับชื่อวัดเคนโคจิที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส พระชุนเมียวอดคิดไม่ได้ว่า ความรู้สึกของพ่อที่มีต่อชีวิตนั้นบรรจุอยู่ในยูอิเงะของท่าน

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากในหนังสือ ‘วางใจให้ไร้กังวล’ พระชุนเมียวจะเอ่ยไว้ประมาณว่า 

“อยากให้คุณลองเขียนความรู้สึกต่อสภาพจิตใจตอนเริ่มต้นปี ไม่จําเป็นต้องเกี่ยวกับการตระหนักรู้เรื่องความตาย คุณอาจเขียนเกี่ยวกับปณิธานหรือสิ่งที่คุณหวังว่าจะเกิดขึ้นในปีนั้น การใช้ชีวิตในปีใหม่นี้ ความคิดอะไรก็ได้ที่ปรากฏเมื่อคุณเปลี่ยนปฏิทิน…” 

การแต่งบทกวียูอิเงะทำให้คนเข้าถึงวิถีเซน เป็นส่วนหนึ่งในวิถีเซน ขณะเดียวการระลึกถึงปณิธานของชีวิตด้วยรูปแบบคล้ายคลึงกันดังที่พระชุนเมียวแนะนำ ก็เป็นประโยชน์สำหรับคนทั่วไปได้เช่นกัน

📚 วางใจให้ไร้กังวล

Don’t Worry: 48 Lessons on relieving anxiety from a Zen Buddhist monk

แท็ก


Related Content