จาก Blackface สู่ Yellowface
Published : มีนาคม 25, 2024 | Blog | Editor :
สงสัยไหมว่าชื่อหนังสือ #Yellowface มีที่มาจากอะไร ?
‘Yellowface’ มาจากคำว่า ‘Blackface’ หรือการแสดงของนักแสดงผิวขาวที่ทาสีผิวให้ดำ เพื่อแสดงละครเพลงล้อเลียนคนผิวสี ให้ความบันเทิงแก่คนผิวขาว
คำว่า ‘Yellowface’ ในความหมายของ อาร์. เอฟ. ควง นักเขียนนิยายเรื่อง ‘เยลโลว์เฟซ วรรณกรรมสลับหน้า’ จึงหมายถึง ‘คนผิวขาวที่เสแสร้งทำตัวเป็นคนเอเชีย’ นั่นเอง
ย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 18-19 ในสหรัฐอเมริกา การแสดงละครเพลงแบบ Blackface ล้อเลียนคนผิวสีด้วยการให้นักแสดงผิวขาวทาตัว หรือใบหน้าเป็นสีดำ ถือได้ว่าเป็นความบันเทิงยอดนิยม
โดยเฉพาะในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 Blackface ถือเป็น ‘งานศิลปะ’ ที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ แถมมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ทัศนคติแบบ ‘เหมารวมทางเชื้อชาติ’ ซึ่งได้ผลอย่างมากในการปลุกเร้าผู้คนให้รักชาติ
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การแสดงแบบ Blackface ก็พุ่งทะยานจนสามารถแยกตัวออกจากการแสดงละครเพลง มาเป็น ‘รูปแบบหนึ่ง’ ของความบันเทิงได้เลยทีเดียว
ทว่าความพยายามต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเชื้อชาตินั้นมีอยู่เสมอ ตั้งแต่ก่อนจะมี Blackface ด้วยซ้ำ กระทั่งในทศวรรษ 1950-1960 สงครามโลกได้เปลี่ยนมุมมองของประชาชนไปอีกขั้น ‘ขบวนการสิทธิพลเมือง’ เข้มข้นมากขึ้น มีความพยายามยุติการแบ่งแยกเชื้อชาติ และยุติการเลือกปฏิบัติต่อชาวแอฟริกันอเมริกัน
ซึ่งเป็นผลพวงที่ทำให้การแสดง Blackface ได้รับความนิยมลดน้อยถอยลง เนื่องจากถือเป็นการเหยียดเชื้อชาติ และการแสดงนี้ก็ถูกต่อต้านอย่างหนักนับตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
…แต่กว่ามันจะถูกต่อต้าน การแสดงล้อเลียนคนผิวสีอันยาวนานนับร้อยปี ก็แพร่ระบาดราวกับเชื้อไวรัสไปยังประเทศอื่น ๆ เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียด้วย
[ Blackface บินข้ามภูมิภาค ]
การเดินทางมาสู่ชาวเอเชีย ผ่านการยอมรับของคนเอเชียเอง
แม้ชาวเอเชียจะถูกคนผิวขาวดูถูก แต่ชาวเอเชียก็ดันโอบรับการเหยียดสีผิวเข้ามา โดยจะเห็นได้จากสื่อต่าง ๆ โฆษณา มังงะ แอนิเมชัน กระทั่งการออกแบบสินค้า
เช่น สองตัวละครอย่าง ‘Mr. Popo’ และ ‘Jynx’ จากซีรีส์ Dragon Ball ที่โด่งดังจากประเทศญี่ปุ่น ถูกเซ็นเซอร์ในการออกอากาศของอเมริกา เนื่องจากทั้งคู่ถูกใช้เป็นภาพแทนในแง่ลบของคนผิวสีดำ
ในไทย วรรณคดีเรื่องอิเหนามีการบรรยายถึงตัวละคร ‘อิเหนา’ ว่า รูปงามผิวขาว ส่วนตัวละคร ‘จรกา’ ถูกบรรยายไว้ว่า รูปชั่วตัวดำ อธิบายได้ว่า คนที่จะเป็นพระเอกในงานวรรณกรรมไทยย่อมต้องมีผิวขาว ผิวขาวหมายถึงคนดี หมายถึงพระเอกนางเอก วิธีคิดแบบนี้อยู่ในงานวรรณกรรมหลายชิ้นของไทยจนเป็นปกติ
ในปี 2011 ละครโทรทัศน์ของฟิลิปปินส์เรื่อง Nita Negrita ที่มีตัวเอกเป็นคนผิวสี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสื่อและนักวิชาการ เนื่องจากนักแสดงนำที่เล่นเป็น ‘Nita’ มีเชื้อสายฟิลิปปินส์-แอฟริกันอเมริกัน ต้องแต่งหน้าและทาตัวด้วยสีดำ ไม่ต่างจากละครเพลง Blackface
ถัดมาในปี 2016 หลังจาก Black Lives Matter เกิดขึ้นแล้วสักพักในสหรัฐอเมริกา มีโฆษณาน้ำยาซักผ้า ‘Qiaobi’ ของจีน บอกเล่าเหตุการณ์ชายผิวดำคนหนึ่งผู้ถูกผลักลงไปในเครื่องซักผ้า และเมื่อซักจนเสร็จ เขาก็กลายเป็นคนชาวเอเชียผิวเหลืองแทน
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ดังอย่าง ยาสีฟันของจีนยี่ห้อ ‘Darkie’ ที่หมายถึงคนผิวสีในภาษาจีน ทำให้บริษัทถูกกดดันอย่างหนักจากคนผิวสีและนักสิทธิมนุษยชน จนต้องเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ กลายเป็นชื่อที่คุ้นเคยกับคนไทยอย่าง ‘Darlie’ หรือ ‘ดาร์ลี่’ นั่นเอง
[ สู่ Yellowface ของควง ]
อาร์. เอฟ. ควง คือนักเขียนรุ่นใหม่มาแรงที่น่าจับตามอง เธอดัดแปลงคำว่า Blackface มาเป็น Yellowface เพื่อสื่อถึงตัวละครที่ชื่อว่า ‘จูน เฮย์เวิร์ด’ คนผิวขาวที่แสร้งเป็นคนผิวเหลืองหรือคนเอเชีย ในนิยายเรื่อง ‘เยลโลว์เฟซ วรรณกรรมสลับหน้า’
เล่าสั้น ๆ เกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้ เยลโลว์เฟซ ว่าด้วยเรื่องราวตลกร้ายและหักเหลี่ยมของคู่หูนักเขียน อะธีนา หลิว สาวสวยชาวจีน-อเมริกันดาวรุ่ง กับ จูน เฮย์เวิร์ด สาวผิวขาวหน้าตาจืดชืดจากฟิลาเดลเฟีย
จูนมองว่า เพราะปัจจุบันคือยุคแห่งความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทำให้ตัวตนนักเขียนอย่างเธอไม่ค่อยน่าสนใจ ไม่มีโอกาสโด่งดังเท่ากับอะธีนา
ดังนั้น เมื่อจูนจับพลัดจับผลูไปอยู่ในอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตอะธีนา เธอเลยฉกเอาผลงานใหม่ของเพื่อนมาเขียนแก้เติมแต่ง แล้วไปตีพิมพ์เองภายใต้ชื่อ ‘จูนิเปอร์ ซอง’ ชื่อที่จงใจให้คนสับสนเป็นว่า ‘จูนิเปอร์ ซ่ง’ คล้ายว่าเธอมีเชื้อสายจีนอยู่
และจูนก็ดังเป็นพลุแตกจากนิยายเรื่องนี้จริง ๆ แต่ขณะเดียวกัน ชาวเน็ตเอเชีย-อเมริกันก็ออกมาโจมตี หาว่าเธอเป็นพวกฉกฉวยทางวัฒนธรรม เป็นคนขาวที่เอาเรื่องน่าเจ็บปวดของชาวเอเชียมาหาเงิน
สรุปได้ว่า ในนิยายร่วมสมัยแนวเสียดสีสังคมอย่าง เยลโลว์เฟซ ได้วางหมากสำคัญเอาไว้หลายตัว เช่น
– ด้านมืดของโลกโซเชียลมีเดีย
– ด้านมืดของวงการหนังสือ
– ความหลากหลายทางเชื้อชาติ
– การเหยียดเชื้อชาติไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
– การฉกฉวยทางวัฒนธรรม (Cultural Appropriation) ระหว่างคนขาวและคนเอเชีย
– กระแสการพยายามเชิดชูกลุ่มคนชายขอบ เพื่อการตลาดและภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
และโดยเฉพาะประเด็นการตีกลับไปอีกขั้วของเอกสิทธิ์คนขาว (White Privilege)
เพราะจูนมองว่าการเป็นคนผิวขาวในยุคที่เชิดชูความหลากหลาย และให้น้ำหนักกับคนชายชอบ ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรเธอก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างลูกครึ่งเอเชีย แถมยังถูกจับผิดแบบง่าย ๆ เพราะมี ‘ผิวขาว’ เป็น ‘ชนักติดหลัง’
หากให้เปรียบเทียบ คงคล้ายคลึงกับกระแส Anti-Feminism ในไทยช่วงหลายปีนี้ กลุ่มคนต่อต้านเฟมินิสต์เพราะเข้าใจไปว่าเฟมินิสต์จะเชิดชูให้เพศหญิงเป็นใหญ่และมีอภิสิทธิ์เหนือเพศชายนั่นเอง
ตัวอย่างบทสนทนาที่สื่อถึงการตีกลับไปอีกขั้วของ White Privilege เช่น
“สำนักพิมพ์เลือกคนที่หน้าตาดี เท่และอายุยังน้อย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทักษะด้านการเขียนเลย … อะธีนาผู้งดงาม เรียนจบเยล สาวนานาชาติ ผู้หญิงผิวเหลืองที่ดูแล้วอาจจะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ คือผู้ถูกเลือกที่ฟ้าประทานลงมาให้
ส่วนฉันก็แค่ยัยจูน เฮย์เวิร์ด สาวผมน้ำตาล ตาสีน้ำตาลจากฟิลาเดลเฟีย ไม่ว่าฉันจะทำงานหนักแค่ไหน หรือเขียนหนังสือดีเพียงใด ฉันก็ไม่มีวันเป็นอะธีนา หลิว ได้”
-
Product on saleเยลโลว์เฟซ วรรณกรรมสลับหน้า (Yellowface)
฿399฿339
แท็ก
Related Content
แด่หนุ่มสาวในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันการทำตามหัวใจตัวเอง ไม่ว่าเมื่อไรก็ไม่สาย
ซนฮย็อนจู เกิดปี 1963 ที่กรุงโซล เธอเรียนจบระดับปริญญาต…
“อย่าทำตัวเหมือนพวกสตาร์ค” หายนะนุนชี่ในซีรีย์ดัง
“อย่าทำตัวเหมือนพวกสตาร์ค” Game of Thrones …
“คอลลีน ฮูเวอร์” (Colleen Hoover)เจ้าของพล็อตเรื่องแยบยลและจินตนาการน่าดึงดูดที่ทำให้คุณไม่อาจหยุดอ่าน
ใครชื่นชอบนวนิยายแนวโรแมนติกน่าจะพอคุ้นหูกับชื่อ “คอลลี…