ผู้หญิง 4 คน ที่เขย่าสังคมผ่านงานเขียน

Published : เมษายน 26, 2024 | Blog | Editor :

หลายครั้งการก้าวมาเป็นนักเขียนก็เทียบได้กับการเป็น ‘ผู้กล้า’ เมื่อสิ่งที่เลือกมาเขียนเป็นเรื่องที่ต้องเปิดเปลือยตัวตน ต้องจี้จุดที่เป็นบาดแผลในอดีต และบางครั้งก็เป็นเรื่องไม่มีใครกล้าพูดถึง

แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่กล้าออกมายืนกางแสงไฟนับเป็น ‘นักเขียน’ ที่สำคัญต่อโลกใบนี้ เพราะเรื่องราวที่พวกเขาหรือเธอเล่าออกมาจะเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังเริ่มต้นใหม่จากความสูญเสีย ทำให้คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวรู้สึกว่ามีคนที่เข้าใจ และปัญหาต่าง ๆ ที่ตัวละครเจอไม่ได้ห่างไกลจากโลกความจริงสักเท่าไหร่

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา Biblio มีโอกาสออกนวนิยายของนักเขียนหญิงที่น่าจับตามองถึง 4 คน ไม่ใช่แค่ในเชิงยอดขายหรือกระแสความนิยม แต่ผลงานเหล่านั้นต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สร้างแรงกระเพื่อมผ่านตัวอักษร และอยากให้ทุกคนได้ลองอ่านเรื่องราวของพวกเธอ

1.—‘ความทรงจำที่ทิ้งไว้ในฤดูร้อน’ นวนิยายที่เล่าความเป็นจริงที่ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องเผชิญจากกรอบของสังคม เธอไม่ได้ตัดสินว่าความคิดใดถูกหรือผิด เธอเพียงบรรยายมันราวกับเป็นเรื่องหนึ่งในชีวิตประจำวัน

2.—‘ชีวิตอัศจรรย์ที่ฮิปโปมอบให้ฉัน’ ประวัติศาสตร์ของครอบครัวหนึ่งที่ผสมปนเปไปทั้งความสุข ความทุกข์ ความหวัง และความปวดร้าว แต้มแต่งด้วยเสียงดนตรี งานศิลปะ และความเปลี่ยนผันของสังคมในประเทศเดนมาร์ก

3.— ‘เยลโลว์เฟซ วรรณกรรมสลับหน้า’ นวนิยายที่ตีแผ่เบื้องหลังสุดปั่นป่วน ตลกร้าย และเจ็บแสบของวงการหนังสือ

4.—‘บ้านหลอนสุดท้ายที่ปลายถนน’ เรื่องราวของนักฆ่าต่อเนื่อง เด็กที่ถูกลักพาตัว การแก้แค้น และความตาย ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นที่บ้านหลังสุดท้ายซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวที่ปลายถนน สถานที่ที่จะทำให้คนค้นพบสัตว์ร้ายในตัวเอง

คาวากามิ มิเอโกะ (Kawakami Mieko)
ผู้เขียน ‘ความทรงจำที่ทิ้งไว้ในฤดูร้อน’

มีนักการเมืองบางคนบอกว่า ‘Breasts and Eggs’ เป็นแค่ “เรื่องบ่นขิงบ่นข่าจากคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง”

ถึงจะถูกวิจารณ์เช่นนั้น แต่นวนิยายที่พาเราไปสำรวจความรู้สึกของผู้หญิงแบบลึกซึ้งในเรื่องความอึดอัดและความสับสนเกี่ยวกับร่างกายตัวเองเรื่องนี้กลับโด่งดังเป็นพลุแตก นอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้คาวากามิ มิเอโกะ แล้ว ยังทำให้เธอได้รับรางวัลวรรณกรรมในปี 2008

“ทั้ง ๆ ที่ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษยธรรม แต่ดูเหมือนพวกเขา (ผู้ชาย) กลับไม่เข้าใจอะไรเลย” ความสนใจจากนักอ่านทั้งในประเทศและทั่วโลกแปลว่าเธอมาถูกทางแล้ว เพราะ “มีคนอยากได้ยินเสียงที่แท้จริงของผู้หญิงเอเชียมากขึ้น”

ใน ‘ความทรงจำที่ทิ้งไว้ในฤดูร้อน’ เธอวิจารณ์ความไม่เท่าเทียมที่เรื้อรังมายาวนาน เธอตบหน้าแนวคิดเกี่ยวกับบทบาททางเพศอันล้าหลังที่ฝังแน่นอยู่ในสังคมญี่ปุ่น และเธอกล้าตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพผู้หญิงในสายตาของผู้ชาย

ชีวิตวัยเด็กมีส่วนสำคัญที่ทำให้คาวากามิอ่อนไหวต่อเรื่องฐานะและชนชั้น เธอรู้สึกว่าพื้นเพของตัวเองแตกต่างจากนักเขียนคนอื่นในวงวรรณกรรมญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง เพราะเธอมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงานในเมืองโอซาก้า ถูกเลี้ยงดูโดยคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาศัยอยู่ในบ้านโทรม ๆ ซึ่งความยากจนนี้บังคับให้ทุกคนต้องทำงาน ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย เด็กหรือแก่ ซึ่งคาวากามิเคยโกหกอายุตัวเองเพื่อให้ได้งานทำในโรงงาน

“ฉันไม่มีวันลืมเมือง ผู้คน และน้ำเสียงของพวกเขาที่หลอมรวมให้ฉันเป็นฉันในทุกวันนี้ … ถึงแม้ผู้คนในวงการหนังสือที่แวดล้อมตัวฉันทุกวันนี้จะเป็นบรรดาผู้มีการศึกษาจากชนชั้นกลางขึ้นไป แต่ไม่ว่ายังไงฉันก็เป็นชนชั้นแรงงาน และฉันจะอยู่ข้างพวกเขา”

ข้อมูลจาก https://shorturl.at/ikuBX

แอนเน็ตต์ บีเยิร์กเฟลด์ (Annette Bjergfeldt )
ผู้เขียน ‘ชีวิตอัศจรรย์ที่ฮิปโปมอบให้ฉัน’

เพราะผู้ใหญ่ในวันนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นวัยเด็กที่พวกเขาเติบโตมา แอนเน็ตต์ บีเยิร์กเฟลด์ จึงตั้งใจสร้างตำนานเกี่ยวกับครอบครัวที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้เข้าใจและค้นหาตัวตนของตัวเอง เหมือนอย่างที่เธอมักจะเห็นตัวเองสวมบทบาทตัวละครอื่น ๆ

‘ชีวิตอัศจรรย์ที่ฮิปโปมอบให้ฉัน’ คือนิยายที่เธอระบายด้วยสีสันทุกเฉดที่มีบนจานสี และบรรเลงด้วยท่วงทำนองแห่งความรักที่มีต่อดนตรี ความหลงใหลนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโลกอันพิศวงในหนังของเวส แอนเดอร์สัน และความพิศวงในชีวิตแต่ละวัน เธอใช้เวลาเก็บรายละเอียดนานหลายปีกว่าจะเขียนนวนิยายเรื่องนี้เสร็จ

“ความจริงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ คุณอาจจะคิดว่าตัวเองรู้เรื่องราวภายในครอบครัวเป็นอย่างดี แต่สุดท้ายแล้วก็มีความลับบางเรื่องที่คุณไม่รู้ เพราะผู้คนและชีวิตล้วนมีแต่เรื่องที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์

บ้านบนถนนปาแลร์โมไวย์ในนวนิยายคือภาพสะท้อนความเป็นจริงในชีวิต ทุกเหตุการณ์มาจากเรื่องราวในครอบครัวบีเยิร์กเฟลด์ บางเรื่องอาจจะยืมจากเพื่อนมาบ้าง แต่ทั้งหมดถูกกลั่นกรองและเชื่อมเข้าด้วยกันผ่านประสบการณ์ของตัวเธอเอง

แอนเน็ตต์เชื่อว่าเรื่องที่เรายึดเหนี่ยวหรือศรัทธาในชีวิตคือสิ่งที่ทำให้โลกนี้สวยงาม นวนิยายของเธอจึงเต็มไปด้วยความรักและความหลงใหลอันรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรักในครอบครัว ความลุ่มหลงในศิลปะและเสียงดนตรี หรือการมอบทั้งหัวใจให้ใครสักคนที่เป็นโลกทั้งใบของเรา

แต่ชีวิตไม่เคยมีความแน่นอน เราพบความเปลี่ยนแปลงแบบไม่ทันตั้งตัวได้เสมอ เหมือนอย่างที่คงไม่มีใครคิดว่าแค่ฮิปโปตัวเดียวที่ปรากฎตัวแบบผิดที่ผิดทางจะพลิกชีวิตให้กลับตาลปัตร

ข้อมูลจาก https://litteratursiden.dk/art…/troest-til-alle-flodsvin-0

อาร์. เอฟ. ควง (R. F. Kuang)
ผู้เขียน เยลโลว์เฟซ วรรณกรรมสลับหน้า

อาร์. เอฟ. ควง เขียนเรื่อง Yellowface (เยลโลว์เฟซ วรรณกรรมสลับหน้า) ตอนอายุ 26 ปี ก่อนหน้านี้เธอโด่งดังจากการเขียนนวนิยายแนวแฟนตาซี แต่ผลงานเล่มล่าสุดกลับไม่ใช่แนวเดิม

‘เยลโลว์เฟซ วรรณกรรมสลับหน้า’ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับด้านมืดของวงการหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการศัลยกรรมภาพลักษณ์นักเขียนเพื่อหวังผลทางการตลาด เรื่องการจัดฉากอันดับหนังสือขายดีที่มีการล็อกมงและอัดฉีดกันล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนตัวเล่มจะวางแผง ไปจนถึงการละเลยความสำคัญและกดค่าแรงคนทำงานเบื้องหลัง ซึ่งเรื่องอื้อฉาวทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อมีนักเขียนผิวขาวขโมยต้นฉบับเพื่อนสาวชาวจีนที่เสียชีวิตไปมาแอบอ้างเป็นผลงานของตัวเอง

ควงเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Rolling Stone ไว้ว่า

“…มีคนบอกว่า ฉันน่าสนใจเพียงเพราะเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ฉันดูคล้ายกับเป็นเครื่องหมายของความหลากหลาย ฉันรู้ว่ามันไร้สาระและไร้เหตุผล แต่เมื่อคุณได้ยินซ้ำบ่อย ๆ เข้า คุณอาจเริ่มสงสัยว่าที่พวกเขาพูดเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ในที่สุดฉันก็ลงมือเขียนนวนิยายเรื่อง Yellowface เพื่อเผชิญหน้ากับเสียงนั้น และกักเก็บมันเอาไว้บนหน้ากระดาษ”

เยลโลว์เฟซฯ ถูกเขียนขึ้นในฤดูร้อนปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์ของทั่วโลก คนส่วนใหญ่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและมีโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียวเป็นที่พึ่ง และเธอมองว่าเรื่องดราม่าของวงการหนังสือเป็นเครื่องมือที่ดูเหมาะสมแก่การเสียดสียุคที่สังคมออนไลน์เป็นใหญ่ เพราะสำนักพิมพ์ก็มีเรื่องดราม่าเต็มไปหมดไม่ต่างจากวงการบันเทิงอื่น ๆ

ข้อมูลบางส่วนจาก https://shorturl.at/inxV7

คาทริโอนา วอร์ด (Catriona Ward)
ผู้เขียนเรื่อง บ้านหลอนสุดท้ายที่ปลายถนน

ตอนคาทริโอนา วอร์ด อายุประมาณ 13 ขวบ เธอสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะรู้สึกว่ามีมือมาผลักให้ตกเตียง แต่เธอไม่ได้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด สาเหตุนั้นมาจากอาการประสาทหลอนช่วงเคลิ้มหลับ ซึ่งเป็นความผิดปกติด้านการนอน แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่มีมือมาผลักจริงหรือไม่ สำหรับเธอความกลัวเป็นเรื่องจริง

คาทริโอน่าใช้ความกลัวเป็นจุดเริ่มต้นในการเขียน เริ่มจาก ‘Rawblood’ หนังสือเล่มแรก ตามมาด้วย ‘Little Eve’ และผลงานเล่มที่สาม The Last House on Needless Street (บ้านหลอนสุดท้ายที่ปลายถนน) ซึ่งเล่าเรื่องหลอนที่ซ่อนอยู่ในบ้านหลังเก่าโทรม ๆ ใกล้ชายป่า รายล้อมด้วยข่าวลือเกี่ยวกับเด็กที่หายตัวไป กระทั่งมีหญิงสาวคนหนึ่งปรากฎตัวขึ้นเพื่อหาคำตอบ

สิ่งหนึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง ‘บ้านหลอนสุดท้ายที่ปลายถนน’ คือเหตุการณ์เกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องกับสัตว์เลี้ยง เช่น เดนนิส นิลเซน ฆาตกรต่อเนื่องชาวสก็อตแลนด์ ที่รักสุนัขมากกว่าสิ่งใด มันเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เขาเป็นห่วงตอนที่ถูกจับ หรือไมรา ฮินลีย์ ฆาตกรคู่รัก ที่แทบขาดใจเมื่อสุนัขที่ตัวเองเลี้ยงตาย

เหตุใดคนที่ไร้ความเห็นใจต่อเหยื่อกลับมีความสัมพันธ์อันเหนี่ยวแน่นกับสัตว์เลี้ยง หรือถ้าลองคิดมุมกลับ สัตว์เลี้ยงต่างหากที่ถูกบังคับให้รักคนที่อันตรายเพราะพวกมันไม่มีทางเลือกหรือเปล่า เหมือนอย่าง ‘โอลิเวียร์’ แมวดำในบ้านหลอนหลังนั้นที่คิดว่าตัวเองถูกพระเจ้าส่งมาเพื่อดูแล ‘เท็ด’ ชายท่าทางน่ากลัวซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยคดีเด็กหาย

‘บ้านหลอนสุดท้ายที่ปลายถนน’ เป็นนวนิยายที่ทำให้เธอได้สานต่อความหลงใหลเกี่ยวกับต้นกำเนิดของสัตว์ร้าย และเราจะยอมรับสัตว์ร้ายในตัวเองได้อย่างไร “เบื้องหลังสัตว์ประหลาดทุกตัวมีเรื่องเล่า ความโหดร้ายและความเห็นอกเห็นใจเป็นความรู้สึกที่ต้องอยู่ด้วยกันเสมอ คุณไม่สามารถกระตุ้นความกลัวของนักอ่านโดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกเห็นใจตัวละครในเวลาเดียวกัน และเราต่างกลัวว่าจะกลายเป็นสัตว์ร้ายตัวนั้นเสียเอง”

แท็ก


Related Content