เก็บตกงานบุ๊กทอล์ก ‘Pain Through Generations: รอยทรงจำที่จางหาย’
Published : สิงหาคม 26, 2024 | Blog | Editor :
เราเชื่อว่าหนังสือหนึ่งเล่มอาจถูกตีความอย่างไรก็ได้ ลึกซึ้งเท่าไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้อ่าน
และงานบุ๊กทอล์ก ‘Pain Through Generations: รอยทรงจำที่จางหาย’ ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า วงสนทนาโดยแขกรับเชิญทั้ง 3 ท่าน และนักอ่านอีกหลายสิบคน ทำให้เรายิ่งรู้จักหนังสือ รอยทรงจำในกระดูก (สนพ. Being) และ เราต่างงดงามแล้วจางหาย (สนพ. Salmon Books) มากขึ้นในมุมมองที่ต่างออกไป ทั้งเปิดโลกทัศน์และสร้างความรู้สึกผูกพันระหว่างหนังสือกับคนอ่าน ไม่ว่าจะในประเด็น…
— การใช้หนังสือเป็นสื่อกลางทำความเข้าใจตัวเองและคนอื่น ๆ
— การเขียนทบทวนตัวเอง พาเราไปเจอตัวเองในมุมที่ไม่เคยนึกถึง
— สงครามของบรรพบุรุษสามารถส่งผลกระทบต่อลูกหลานในปัจจุบันมากกว่าที่คิด
— ความสำคัญของประวัติศาสตร์ที่มีส่วนในการสร้างตัวตนของเราทุกคน
— การยอมรับบาดแผลและความกล้าหาญที่จะเยียวยาตัวเอง
ฯลฯ
ในงานนี้เราได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญทั้งสามท่านที่ต่างมีจุดสนใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบาดแผลที่ถูกส่งต่อผ่านครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น การได้สัมผัสความรู้สึกของคนในครอบครัว ความผูกพันและการอยู่ด้วยกันในวันเวลาแย่ ๆ ผ่านถ้อยความสละสลวยของงานวรรณกรรม
แม้งานจะจบไปแล้ว แต่ความประทับใจยังคงอยู่ เราจึงขอเก็บตกประเด็นเด่นจากในงานมาให้อ่านกันอีกครั้ง

“การเข้าหาบริการบำบัดจิตใจเสมือนกับการหาช่างตัดผม ช่างแต่ละคนมีสไตล์ที่ตัวเองถนัดต่างกัน เพราะฉะนั้นเราในฐานะผู้เข้ารับบริการ การที่เราเข้ากันไม่ได้ เช่น ช่างเขาถนัดผมยาวแต่เราอยากได้ผมสั้น มันไม่ได้มีอะไรผิด เราสามารถสำรวจต่อได้ อย่าเพิ่งยอมแพ้
เล่ม ‘รอยทรงจำในกระดูก’ คือตัวอย่างหนึ่งของคนที่ผ่านการทดลองทำอะไรต่าง ๆ และหนึ่งในประตูที่จะช่วยให้เราเข้าใจหรือได้กลับมาหาตัวเองอาจเป็นการอ่านเรื่องเล่า เหมือนแต่ละครอบครัวมีเรื่องเศร้า แล้วเราอยากจะกลับมาหาเรื่องราวของตัวเอง ผ่านเรื่องเล่าของครอบครัวคนอื่น หนังสือทั้งสองเล่มนี้พาเราไปอ้อมโลกเพื่อที่จะกลับมาหาตัวเราเองถ้าย้อนไปประมาณสิบปีที่แล้ว แทบไม่มีหนังสือที่ออกมาพูดถึงโลกในจิตใจที่ใครสักคนกำลังเผชิญ เหมือนอย่างเล่มนี้ที่เขากล้าพูดมันออกมา”
—คุณกันตพร สวนศิลป์พงศ์ นักเขียนและนักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและสุขภาพจิต MasterPeace

“แม้หนังสือทั้งสองเล่มนี้จะมีจุดเริ่มต้นหรือจุดประสงค์ในการเขียนไม่เหมือนกันเลย แต่เราคิดว่ามันน่าจะเริ่มจากคำถามเดียวกันคือ ‘โลก/โรคมันอยู่ยากจัง’
…ส่วนตัวมองว่าการติด Trigger warning อาจทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้รู้จักคน ได้เรียนรู้ชีวิตคน หรือฟังก์ชันต่าง ๆ ที่เราจะได้จากการอ่านวรรณกรรม การอ่านหนังสือหรือเสพย์สื่อศิลปะคือความเสี่ยง เหมือนเราเดินเข้าโรงหนังมืด ๆ โดยรู้แค่คำโปรยและเรื่องย่อ ถ้าคุณเจอเรื่องสะเทือนใจ ก็มีตัวเลือกระหว่างเดินออก หรือ จะดูต่อเพื่อดูว่ามันจะคลี่คลายไปในทางไหน หนังสือก็เหมือนกัน
…เราชอบพาร์ทที่สองของเล่ม ‘รอยทรงจำในกระดูก’ เป็นตอนที่ผู้เขียน สเตฟานี ฟู หาวิธีบำบัดรักษาโรคทางจิต complex PTSD ที่ตัวเองป่วย เขาพยายามทดลองทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทางจิตบำบัด ทางจิตวิญญาณ ใช้เห็ดวิเศษ ใช้โยคะ การจะอ่านเล่มนี้ให้ได้ประโยชน์ จึงไม่ใช่เพียงทำตามวิธีของผู้เขียน แต่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องพยายาม พยายามไปก่อน เพราะเราได้เห็นแล้วว่ามีคนอื่น ๆ กำลังพยายามไปพร้อม ๆ กับเราอยู่”
— คุณวรรษชล ศิริจันทนันท์ ผู้แปล ‘เราต่างงดงามแล้วจางหาย’

“หนังสือ ‘รอยทรงจำในกระดูก’ และ ‘เราต่างงดงามแล้วจางหาย’ เป็นเรื่องราวของลูกหลานที่ถูกกระทำจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโดยตรงทำให้ป่านรู้สึกว่า คนไทยถูกทำให้ห่างไกลจากสงครามมาก ๆ ทั้งที่จริงแล้วสงครามเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมากกว่าที่คิด อย่างสงครามเชื้อชาติในมาเลเซียหรือสงครามเวียดนาม แต่เราแทบไม่ได้ยินเรื่องราวของพวกเขา และไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นส่งผลต่อลูกหลานของพวกเขาอย่างไรบ้าง ในแง่นึงก็สะท้อนใจว่า โห เราต้องไปอ่านเรื่องราวของคนที่ถูกสงครามกระทำผ่าน Generation จากคนที่ไปเติบโตในอเมริกา ทั้งที่มีคนจำนวนมากในไทยถูกกระทำแบบเดียวกัน
..หนึ่งในความยากของการเสพย์งานทรอม่าในยุคนี้จึงคือการแปะป้ายว่า ‘สิ่งนี้ไม่บันเทิง’ วิธีที่หลาย ๆ คนใช้เพื่อต่อสู้คือการเติมความสุขให้ตัวเอง เติมสิ่งบันเทิง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เมื่อเลือกที่จะสู้ด้วยการใช้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว เราอาจพลาดโอกาสลองใช้วิธีอื่น ๆ เช่น การกลับไปดูต้นทางของสิ่งที่เราเผชิญ วิธีที่หนังสือทั้งสองเล่มนี้ทำคือการลงไปศึกษา ขุดลึกถึงรากที่มาของตัวเอง ที่มาของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ปลายทางมันไม่ใช่การกลับไปรักกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ สุดท้ายผู้เขียนก็ไม่ได้กลับไปรักกลมเกลียวกับพ่อแม่ ถึงแม้ที่สุดแล้วเขาจะเข้าใจว่าพ่อแม่ทำสิ่งนี้กับเขาทำไม”
— คุณฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการที่สนใจประเด็นความเป็นหญิง
ขอขอบคุณงาน Learning Fest Bangkok 2024 ที่ชักชวนพร้อมเอื้ออำนวยพื้นที่ให้พวกเรา สุดท้ายนี้ อยากขอบคุณนักอ่านทุก ๆ คนมากที่สุดที่มาเจอกัน แล้วพบกันใหม่งานหน้านะคะ
ใครที่พลาดบุ๊กทอล์กครั้งนี้ สามารถดูคลิปย้อนหลังได้ทาง Biblio Facebook Page
📸 ขอบคุณภาพจาก
ทีมงาน Learning Fest Bangkok 2024
-
Product on saleรอยทรงจำในกระดูก (What My Bones Know)
฿469฿399
แท็ก
Related Content

เบื้องหลังธีมงานหนังสือ
หลังเคาะกันเรียบร้อยว่างานหนังสือรอบนี้เราจะนำเสนอภายใต…

In Depth ‘นุนชี่ พลังแห่งการสังเกตชีวิต’
คุณเคยตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ไหม? ในที่ประชุม หลังจาก…

Doppelganger ปีศาจแห่งลางร้ายและความตาย ตัวตนที่สะท้อนด้านตรงข้ามของมนุษย์
ปีศาจปรากฎตัวขึ้นหลังบุรุษไปรณีย์หนุ่มรู้ว่า ตนกำลังจะม…