หนังสือที่ตอบคำถามทุกมิติว่า ทำไมใครๆก็อยากเป็นให้ได้อย่างเยอรมนี
Published : ธันวาคม 2, 2022 | Blog | Editor :
หากพูดถึงเยอรมนี สิ่งแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวก็คงเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 บาดแผลที่โลกไม่มีวันลืม และยังคงส่งผลเป็นความเจ็บปวดมาสู่คนรุ่นหลังเรื่อยมา จากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาสู่สงครามเย็น การแบ่งแยกที่กลับมาสู่การรวมชาติ ความหนักหนาสาหัสที่พวกเขาแบกรับไว้นั้นไม่น้อยเลยทีเดียว และบางทีเราก็ได้แต่คิดว่าหากเป็นประเทศอื่นๆ พวกเขาจะรับมือและกลับมายืนหยัดได้แข็งแกร่งเท่านี้อีกไหม?
“คิดแบบเยอรมัน เขาทำกันยังไง” ผลงานจากจอห์น แคมป์ฟเนอร์ จะพาเราไปเจาะลึกให้เห็นทุกมิติของเยอรมนี เป็นหนังสือเกี่ยวกับเยอรมนีที่ไม่ได้ว่าด้วยสงครามในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้เราเห็นผลพวงที่ตามมา เต็มไปด้วยเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
“คนเขียนตอบสิ่งที่เราและชาวโลกถามมาตลอดว่าทำไมเยอรมนีถึงเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ และตอบในทุกมิติ” นี่คือคำยืนยันจากคุณเจนจิรา เสรีโยธิน นักแปลและล่ามอิสระ ซึ่งเป็นผู้แปลหนังสือเล่มนี้ คุณเจนมีผลงานการแปลมาแล้วมากกว่า 50 เล่ม ทั้งงานแปลอังกฤษและเยอรมันหลากหลายแนว ผลงานล่าสุดก่อนหน้านี้ได้แก่ งานของแบร์นฮาร์ด ชลิงค์ “โอลก้า” และงานของเอลฟรีเดอ เยลิเนค นักเขียนชาวออสเตรียรางวัลโนเบล “ครูเปียโน” ของสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์
วันนี้ Be (ing) เลยขอคว้าตัวคุณเจนมานั่งคุย เรียกน้ำย่อยจากนักอ่านกันก่อนว่าหนังสือเล่มใหม่นี้ แสบ สนุก และสะท้อนอะไรให้เราเห็นบ้าง เพราะนี่คือโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ที่ทุกคนควรเรียนรู้
Being: รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้แปลเล่มนี้ และเนื้อหาของเล่มพิเศษกว่าเล่มอื่น หรือสลัดเราจากภาพจำของเยอรมนีอย่างไร?
คุณเจน: รู้สึกว่าสำนักพิมพ์ติดต่อมาถูกคนแล้วค่ะ (หัวเราะ) ไม่ใช่เพราะเราเก่งนะ แต่เพราะปกติก็อวยประเทศนี้อยู่แล้ว แซะก็มีบ้าง แต่แซะด้วยความรัก ความน่าสนใจคือนี่เป็นหนังสือที่นักข่าวชาวอังกฤษเขียน หมายความว่าเขายังมองเยอรมนีในฐานะคนต่างชาติอยู่ แต่ก็มองด้วยความมีประสบการณ์ เพราะอยู่ประเทศนี้มานานและรู้จักคนเยอรมันเยอะ มันพิเศษเพราะครอบคลุมหลายด้านของเยอรมนีปัจจุบัน ทั้งประเด็นประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ บทบาทของเยอรมนีในเวทีโลก รวมทั้งทัศนคติจากการสัมภาษณ์คนเยอรมันโดยตรงด้วย
บทแรกของหนังสือรวบรวมให้เลยว่าเยอรมนีแสดงความสำนึกผิดและแก้ไขอดีตของตัวเองอย่างไรบ้าง อยากให้นักอ่านลองอ่านและลองแชร์หน่อยเลยค่ะว่าสำหรับคุณ คุณคิดว่าความพยายามแก้ไขอดีตของเขาเพียงพอไหม ส่วนตัวกลับมองตั้งแต่ต้นว่าเฮ้ย ประเทศนี้มันต้องแน่ขนาดไหน กล้าทะเลาะกับคนทั้งโลก (ในแบบไม่ดีนะคะ) ก็เลยต้องโดนสั่งสอนอย่างหนัก แต่ขนาดโดนเหยียบจมดินยังกลับผงาดมาได้ขนาดนี้ ในตำรามักจะเขียนว่าเป็นเพราะการช่วยเหลือของสหรัฐฯ หรือรัฐบาลเขาเก่ง ฯลฯ แต่ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้จะรู้เลยว่ามันเป็นเพราะ “ธาตุทรหด” ของคนเยอรมันเอง โดยเฉพาะผู้หญิงเยอรมัน อย่างไรต้องลองอ่านเองค่ะ
Being: การแปลเล่มนี้ช่วยให้มองเห็นวัฒนธรรมและสังคมของเยอรมันในมิติใหม่หรือในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอย่างไร
คุณเจน: มีหลายประเด็นเป็นเรื่องที่เคยเรียนและได้ยินมาก่อนแล้ว แต่ไม่ได้เจอเอกสารบอกเป็นลายลักษณ์อักษรหรือมีตัวอย่างละเอียดชัดเจน หนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นหลักฐานยืนยันสิ่งที่เราเรียนมาและได้ยินมาจากคนเยอรมันเอง ทั้งความเข้มแข็งของ SME ชุมชนท้องถิ่น สถานะศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ Grundgesetz การเคารพกฎหมายแบบหมกมุ่นของคนเยอรมัน การมองตัวเองเป็นพลเมืองยุโรป ส่วนมุมมองใหม่ที่ได้คือแง่มุมของแมร์เคล เส้นทางการเมืองของเขา เขามีแนวทางทำงานอย่างไร และเยอรมนีต้องรับมือกับจีน สหรัฐฯ รัสเซียอย่างไรบ้าง ปกติก็นับถือเขาอยู่แล้ว พอได้รู้รายละเอียดก็ยิ่งนับถือเขามากขึ้น น่าเสียดายที่เขาไม่ได้มาเยือนประเทศเราระหว่างอยู่ในตำแหน่ง
Being: คนอาจมองว่าการเมืองเยอรมันเป็นเรื่อง แล้วทำไมเราต้องมาสนใจประเทศนี้
คุณเจน: ความจริงไม่ต้องสนใจก็ได้จริงๆ นั่นแหละ แต่ถ้าคุณกำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้อยู่ แสดงว่าคุณสนใจประเทศนี้ ถามว่าไกลจริงไหม ก็ไม่ไกลตัว เพราะคนไทยชอบไปเที่ยว ไปอยู่เยอรมนี หมายถึงคนไทยทั่วไปจริงๆ (ย้ำ) เยอรมนีเป็นประเทศที่มีชุมชนคนไทยใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ ทั้งที่มีอุปสรรคเรื่องภาษา นักศึกษาไทยก็ชอบไปประเทศนี้ เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูงเท่ากับหลายประเทศ ทุนการศึกษาเยอะ คนเยอรมันสนใจประเทศไทย เพราะเขาก็ชอบมาประเทศเรา เชื่อมากว่ามองไปรอบตัวก็จะเจอคนที่มีบางอย่างเชื่อมโยงกับเยอรมนี สินค้า บริการ การค้า การส่งออก เราค้าขายกับเยอรมนีมากที่สุดในประเทศอียู การเมืองของเยอรมนีจะกำหนดทิศทางของยุโรป ยกตัวอย่างเช่น ตอนวิกฤตเงินยูโร จนมีข่าวว่าอียูต้องยกเลิกสกุลเงินนี้ไหม แต่เยอรมนีนี่แหละเป็นคนยืนยันนั่งยันว่าไม่ยอมให้ยูโรล่มหรอก แล้วเขาก็ทำได้ เขาพายุโรปพ้นวิกฤตมาได้
Being: หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เส้นแบ่งที่หายไป มันหายไปจริงๆ ไหม
คุณเจน: สงครามเย็นน่าจะยังทิ้งความรู้สึกแบ่งแยกของคนตะวันออกตะวันตกค่ะ เราไม่รู้จะอธิบายอย่างไร มันอธิบายยาก เขาบอกว่ามันเป็นเซนส์ (หัวเราะ) ส่วนตัวเราแยกไม่ออก แต่คนเยอรมันเขารู้สึก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ารู้ได้ยังไง มันยังแบ่งแยกเรื่องวิถีการใช้ชีวิต พรรคการเมืองที่เลือก การทำงาน การแบ่งกลุ่มในที่ทำงาน แต่ส่วนตัวเห็นว่าคนเยอรมันเขามีความท้องถิ่นสูงอยู่แล้ว แม้แต่คนเหนือกับคนใต้เขาก็รู้สึกแตกต่างกัน ก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ
Being: อยากให้ขยายความเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง หรือทัศคติต่อเรื่องต่างๆ ของคนเยอรมันในปัจจุบันหน่อย
คุณเจน: คนรู้จักชาวเยอรมันเขามีพรรคสังกัดเป็นเรื่องเป็นราวเลย อย่างอาจารย์ของเราก็เลือก ดี ลิงเคน (ฝ่ายซ้าย) ตลอด แบบว่ายังตกใจว่าอาจารย์ฉันเขาซ้ายได้ขนาดนี้เลยเหรอ แสดงว่าปกติเขาไม่เลือกตัวบุคคล แต่เลือกพรรค แต่ละพรรคมีแนวทางชัดเจนมาก ประชาชนบอกได้ชัดเจนว่าตัวเองสังกัดพรรคอะไร อารมณ์เหมือนเดโมแครต รีพับลิกัน เขาก็มี CDU กับ SPD ที่สลับกันขึ้นมามีอำนาจ หลังจากแมร์เคลอยู่มาสิบหกปี ก็เป็นปกติที่คนเยอรมันจะเลือก SPD มากขึ้นในคราวนี้
ความเปลี่ยนแปลงล่าสุดก็มีแค่ความกังวลเรื่องพรรค ARD ที่ช่วงสามสี่ปีก่อนเป็นพรรคใหม่มาแรง มาแรงเพราะนโยบายต่อต้านคนต่างชาติตอนที่แมร์เคลรับผู้ลี้ภัยมาเยอะๆ ตอนที่ไปเยอรมันเคยเจอพวกนี้ออกมาเดินขบวนที่เดรสเดนยังตกใจ คนสนใจเยอะมาก เขาไม่มานั่งทะเลาะกันประจำวัน แต่จะแสดงออกทางการเมืองโดยการเลือกพรรคนี้ให้ดูเลย คนเขียนก็ตกใจว่าเฮ้ย กลับมาอีกแล้วเหรอ กระแสเกลียดคนต่างชาติ อย่างนี้จะเหมือนตอนนาซีไหม แต่การเลือกตั้งคราวนี้ เสียงของ ARD น้อยลงมาก คิดว่าไม่น่ากังวลอะไร
Being: ในเล่มนี้จะมีพูดถึงเรื่องส่วนรวมในด้านต่างๆ ด้วย อยากรู้ว่าทำไมคนเยอรมันถึงมีจิตสำนึกเรื่องความเป็นส่วนรวมสูง
คุณเจน: ส่วนตัวคิดว่าส่วนหนึ่งเพราะเขาชอบทำงานเป็นทีม เคยฝึกงานที่ออฟฟิศเยอรมัน เขาก็ชอบประชุมกันกลุ่มเล็กๆ บอกเล่าอัปเดทการทำงานกัน ไม่รู้เพราะอะไร เคยทำงานอีเว้นท์หนึ่งแล้วเกิดปัญหาขึ้น เขารวมตัวประชุมแก้ไขปัญหากันเดี๋ยวนั้นเลย เป็นความจริงที่เยอรมนีมีสมาคม ชมรมเยอะมาก สมาคมคนถนัดซ้ายยังมี เหมือนเขาเชื่อในการรวมตัวว่ามันจะสร้างอิมแพคได้ ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ
กับอีกอย่างน่าจะเป็นเพราะนิสัยช่างจับผิดของเขา เวลาไม่ชอบอะไร เขาจะบอกตรงๆ พูดตรง ถ้าเจอใครทำผิด หรือเห็นแก่ตัว เอาเปรียบ เขาไม่เกรงใจ เขาจะพูดออกมาเลย ไม่ไปบอกให้คนนี้ช่วยบอกคนนั้น หรือเอามานั่งนินทา เขาสามารถพูดด้วยน้ำเสียงไม่ใส่อารมณ์ เป็นข้อเท็จจริง ไม่ได้โกรธแค้นส่วนตัว เขาจะตรวจสอบกันเองแบบนี้ เลยไม่ค่อยมีใครกล้าหน้าด้านเห็นแก่ตัว อีกอย่างคือระบบของเขาที่มันบังคับให้ต้องทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมอยู่แล้ว เคยอยู่หอที่โน่น เรื่องทิ้งขยะรวม เขาจะเอาป้ายมาแขวนบอกที่ประตูเลยว่าทุกคนมีหน้าที่ทำ เวียนไปทุกอาทิตย์ เธอทำเสร็จแล้วก็เอาไปแขวนหน้าห้องถัดไป คือเขาเซ็ตระบบไว้เลยว่าทุกคนมีหน้าที่ ไม่ต้องมานั่งเกรงใจ นั่งน้อยใจคนเดียวว่าทำไมคนอื่นไม่ทำ เลยคิดว่าเป็นเพราะทั้งความชอบและระบบค่ะ
มีประโยคพูดติดปากคนเยอรมันประโยคหนึ่งว่า Das ist ja eine Vorschrift (ก็มันเป็นกฏ) พูดคำนี้ปุ๊บ จบปึ้ง ไม่ต้องนั่งเถียง
Being: การให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและสังคมก็จริงจังไม่แพ้กัน
คุณเจน: ท้องถิ่นเยอรมันพึ่งพาตัวเองเยอะมาก ไม่รู้ว่าที่ประเทศอื่นในยุโรปเป็นอย่างไร แต่ความเห็นส่วนตัว ไม่รู้ถูกหรือเปล่านะคะ แต่คิดว่ามันน่าจะเหมือนกันทั่วยุโรปที่เคยเป็นระบบฟิวดัล แต่ละชุมชนต้องพึ่งพาตัวเองสูง แต่เยอรมนีพิเศษตรงที่สมัยสงครามสามสิบปี เยอรมนีเป็นสนามรบของสงครามประเทศฝ่ายคาธอลิกและโปรแตสแตนท์กับนิกายจิปาถะด้วย คิดดูว่าถ้าประเทศเราเป็นสนามรบนานขนาดนั้น ไม่มีรัฐบาลกลางดูแล ชุมชน ชาวบ้านเขาก็ต้องดูแลตัวเอง การให้ความสำคัญกับท้องถิ่นทำให้เขาไม่รอรัฐบาลกลาง อะไรที่พัฒนาท้องถิ่นเองได้ ทำกันเองเลย อย่างที่ในหนังสือเขียน SME ธุรกิจต่างๆ มีหน้าที่ต้องให้อะไรแก่ชุมชน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ดีต่อภาพลักษณ์ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแบบนี้ทำให้ประชาชนมีความกระตือรือร้น มีส่วนร่วมในชุมชน เห็นความสำคัญของการจ่ายภาษี รู้สึกเป็นเจ้าของและรับผิดชอบการพัฒนาชุมชน ซึ่งแน่นอนถ้าท้องถิ่นดี ก็จะส่งผลให้ประเทศโดยรวมดีไปด้วย
Being: ตอนนี้เรื่องสภาพแวดล้อมคนก็หันมาให้ความสนใจกันมาก ดูได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา คิดว่านโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวแปรสำคัญมากน้อยแค่ไหนในอนาคต
คุณเจน: ขอออกตัวว่าไม่ได้ตามเรื่องนี้จริงจังและไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ คงไม่สามารถวิเคราะห์ได้ครอบคลุม ขออนุญาตแชร์เฉพาะสิ่งที่ได้ยินมาแล้วกันนะคะ เช่น เรื่องการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด หลายปีก่อนจำปีไม่ได้ น่าจะช่วงฟุคุชิมะ คนเยอรมันตื่นตัวมาก กลัวภัยนิวเคลียร์ ก็เรียกร้องให้ปิดมานานแล้ว แต่ตอนนั้นแมร์เคลคิดว่าอาจจะหาพลังงานอื่นมาแทนนิวเคลียร์ไม่ทัน จึงจะต่ออายุการใช้นิวเคลียร์ต่อไปอีกนิดหน่อย เท่านั้นแหละ พอเลือกตั้งท้องถิ่นที่รัฐหนึ่งซึ่งรวยที่สุดของเยอรมนี CDU ก็แพ้เลย แมร์เคลเลยต้องกลับมาให้ปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามกำหนดเดิม
อีกเรื่องของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโซลาร์และพลังงานลม สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจาก 6% เมื่อยี่สิบปีก่อน ซึ่งใครๆ ก็คิดว่ามันน้อยมาก พลังงานหมุนเวียนคงไม่มีศักยภาพจะเป็นพลังงานหลักของประเทศได้หรอก ยังไงก็ต้องพึ่งนิวเคลียร์ต่อ แต่ตอนนี้ 2020 สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีเพิ่มเป็น 46% แล้ว ประเทศนี้เป็นอย่างนี้ เขาตั้งเป้าหมาย แล้วทำไปเรื่อยๆ แก้ปัญหาไปเรื่อยๆ เขาไม่มานั่งบ่นว่าทำไม่ได้แน่ๆ หรือใช้ข้ออ้างว่าเพื่อนบ้านยังมีนิวเคลียร์เลย ทำไมเราจะมีไม่ได้ เขาไม่คิดแบบนั้น เขามองว่าถ้าเขาเริ่มและทำได้ดี เขาจะเป็นตัวอย่างที่ดีและคนอื่นจะทำตามเขา ส่วนเรื่องแยกขยะ เรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วมก็คิดว่าคงเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว
Being: การเมืองช่วงที่ผ่านมาในมือของผู้นำอย่างอังเกลา แมร์เคล
คุณเจน: สถานะของเยอรมนีในสมัยของแมร์เคลก็ต้องบอกว่ามันมั่นคง แสดงภาวะความเป็นผู้นำของอียูได้เข้มแข็ง ทั้งตอนวิกฤตการเงินและผู้ลี้ภัย เอาเป็นว่าเสียงของเยอรมนีดังที่สุดจริงๆ หลังจากยุคของแมร์เคลก็คิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะโชลซ์ก็เคยอยู่ในรัฐบาลแมร์เคล ทำงานด้วยกันมาก่อน แต่ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ ไม่กล้าคาดการณ์ ลองอ่านหนังสือดีกว่าค่ะ นักเขียนเป็นนักข่าวสายการเมือง ต้องรู้ดีกว่านักแปลแน่นอน
แต่สิ่งพิเศษของรัฐบาลชุดล่าสุดนี้คือ นี่เป็นครั้งแรกที่สัดส่วน รมต.หญิงชายเท่ากัน (ถ้าไม่นับนายกฯ), มี รมต. อายุน้อยที่สุดคือ 40 ปี ซึ่งปกติอายุเฉลี่ย รมต. มักจะ 50 กว่า, มี รมต. ที่มีภูมิหลังเป็นชาวตุรกีเป็นคนแรก, มี รมต. มหาดไทยเป็นผู้หญิงครั้งแรก แต่ รมต. ที่เกิดจากฝั่งตะวันออกก็ยังน้อยอยู่ดีคือมีแค่สองคน
Being: ประทับใจอะไรในเล่มนี้เป็นพิเศษ
คุณเจน: ชอบมากที่สุด (กดไลค์รัวๆ) คือตอนที่คนเยอรมันคนหนึ่งให้เหตุผลของการเคารพกฎหมายว่า กฎหมายคือสิ่งเดียวที่รับรองว่าคนระดับล่างที่สุดของสังคมจะมีสิทธิ์ที่เท่าเทียมกับคนรวย พวกอีลิต ถ้าจะรักษาความเท่าเทียมนี้ไว้ได้ก็ต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ค่านิยมความเชื่อนี้ฝังรากลึกไปทั้งประชาชนและสถาบันต่างๆ ระบบที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ไม่ว่าจะไม่เป็นศาล หรือตำรวจ เคยคุยกับตำรวจเยอรมัน เขาบอกว่าประชาชนรับได้กับความเข้มงวดหรือการถูกลงโทษ หากตำรวจอธิบายได้ว่าเพราะอะไรและไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่ทำไมคนนี้ไม่ถูกจับ แต่ฉันถูกจับ
Being: สุดท้าย อะไรที่ทำให้คนอ่านต้องมีเล่มนี้ไว้ในชั้นหนังสือที่บ้านคะ
คุณเจน: อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจะไม่ซื้อหรือคะ (หัวเราะ) ซื้อเถอะ ไม่ได้อวยเพราะเป็นคนแปล แต่ชวนเพราะว่ามันดีจริงๆ ถึงไม่ได้แปลเองก็คงจะซื้อเก็บไว้เอง คนเขียนตอบสิ่งที่เราและชาวโลกถามมาตลอดว่าทำไมเยอรมนีถึงเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ และตอบในทุกมิติ ด้วยข้อมูลทั้งสถิติ ประวัติศาสตร์ การสัมภาษณ์ ประสบการณ์ตรง คือต้องมีติดบ้านไว้เป็นหนังสืออ้างอิงได้เลย
-
Product on saleคิดแบบเยอรมัน เขาทำกันยังไง
฿359฿215
แท็ก
Related Content
Kizara Izumi คู่รักนักเขียนที่เชื่อว่าความตายทำให้ชีวิตมีความหมาย
ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด คิ…
Biblio Open House เปิดใจบรรณาธิการ
หนังสือมีพลังซ่อนอยู่ แต่ว่าแต่ละเล่มก็ทำงานกับแต่ละคนต…
4 เลเวล เพื่อดีท็อกซ์โซเชียลมีเดีย ล้างพิษไม่พึงประสงค์ออกจากหัวสมองและความรู้สึก
4 เลเวล เพื่อดีท็อกซ์โซเชียลมีเดีย ล้างพิษไม่พึงประสงค์…